EXIM BANK โชว์ผลงาน 9 เดือน หนุนผู้ประกอบการไทย ขยายการค้า-ลงทุนในตลาดโลกต่อเนื่อง ส่งผลยอดสินเชื่อคงค้าง 95,817 ล้านบาท เติบโต 12.81% ซึ่งกว่า 40% เป็นเงินให้สินเชื่อคงค้าง SMEs
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือน ปี 2561 มีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 95,817 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,880 ล้านบาท หรือ 12.81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น สินเชื่อเพื่อการค้า 29,732 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 66,085 ล้านบาท โดยมีการปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และขนาดใหญ่ (L) เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 131,474 ล้านบาท
ซึ่งในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 74,740 ล้านบาท และ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 มีเงินให้สินเชื่อคงค้างแก่ SMEs 38,351 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1,102 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนั้น EXIM BANK ยังบริหารจัดการสินเชื่อด้อยคุณภาพให้มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs Ratio) สิ้นเดือน ก.ย. อยู่ที่ 3.80% ลดลง 0.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 3,643 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 8,928 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,246 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นสำรองหนี้พึงกันตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย จำนวน 4,058 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองที่กันไว้แล้วต่อสำรองหนี้พึงกัน 220.02% ทำให้ EXIM BANK ยังคงดำรงฐานะการเงินที่มั่นคง
สำหรับบริการประกันการส่งออกเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากคู่ค้าในต่างประเทศ ช่วยเพิ่มความมั่นใจและความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ทั้งในตลาดการค้าเดิมและตลาดใหม่ ในไตรมาส 3 ปี 2561 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจทั้งสิ้น 64,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,894 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 11,604 ล้านบาท หรือ 17.91% ของปริมาณธุรกิจสะสมรวม
"เรามีวงเงินสนับสนุนสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ 66,718 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการค้าการลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งสิ้นไตรมาส 3 มียอดคงค้าง 38,218 ล้านบาท และยังสนับสนุนขยายฐานการค้า การลงทุนไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพของผู้ประกอบการไทย โดยมีเงินให้สินเชื่อคงค้าง 29,197 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปี 2560 เท่ากับ 1,302 ล้านบาท"