สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินสถานการณ์ค่าเงินบาทของไทยภายใต้รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย ไตรมาสที่สามของปี 2567 และแนวโน้มปี 2567 - 2568 โดยระบุว่า ค่าเงินบาท ในช่วงที่เหลือของปี 2567 มีแนวโน้มว่าจะมีความผันผวนในระดับสูงต่อไป
ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากความไม่แน่นอนจากทิศทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายทางการค้าที่จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจของไทย
ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงควรส่งเสริมให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้าถึงเครื่องมือทางการเงินและมีทางเลือกการลงทุนเพื่อช่วยบริหารจัดการและป้องกันความเสี่ยงจาก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนให้ทั่วถึง
ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจ SMEs สามารถบริหารจัดการการเงินและวางแผนการผลิต ให้เหมาะสมกับประเภทและขนาดของธุรกิจได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนสูงในระยะต่อไป
สำหรับการประเมินสถานนการณ์ค่าเงินบาทครั้งนี้ สศช. รายงานว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากดังจะเห็นได้จากการเคลื่อนไหวในกรอบ 32.29 - 37.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยในไตรมาสที่สองของปี 2567 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 36.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ. อ่อนค่าลงร้อยละ 2.96 จากไตรมาสก่อนหน้า
อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2567 เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 ซึ่งเป็นการปรับลดครั้งแรกในรอบ 4 ปี ส่งผลให้เงินบาทเฉลี่ยในไตรมาสที่สามอยู่ที่ 34.81 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.17 จากไตรมาสก่อนหน้า
โดยแข็งค่ามากที่สุดเป็นอันดับสองในภูมิภาค รองจากมาเลเซียที่แข็งค่าร้อยละ 5.77 และในเดือนตุลาคม 2567 ต่อเนื่อง ถึงช่วงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าลงอีกครั้งตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ
ทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทดังกล่าว สอดคล้องกับประเทศในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทในปี 2567 มีความผันผวนในระดับสูง เห็นได้จากกรอบการเคลื่อนไหวที่มีความแตกต่างกันสูงถึงร้อยละ 14.89 สูงขึ้นจากร้อยละ 13.62 ในปี 2566 และร้อยละ 13.59 ในปี 2564
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Bloomberg ที่ได้จัดทำค่าความผันผวน (implied volatility) ของค่าเงินของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค พบว่า ณ สิ้นเดือน มิถุนายน เดือนกันยายน และเดือนตุลาคม ค่าเงินบาทมีความผันผวนที่ระดับ 4.75 ระดับ 10.63 และระดับ 10.35 ตามลำดับ มากกว่าประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค รองจากญี่ปุ่น เกาหลี และอินโดนีเซีย
อีกทั้งค่าความผันผวนดังกล่าวปรับเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเดือนกันยายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ปัจจัยในประเทศสนับสนุนให้เกิดเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าตลาดทุนไทย ได้แก่ ความชัดเจนทางการเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาล และการเสนอขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมวายุภักษ์ด้วย