ส่งออกเดือน ต.ค. พุ่ง 14.6% สูงสุดในรอบ 19 เดือน ปรับเป้าทั้งปีโต 4%

26 พ.ย. 2567 | 03:49 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2567 | 05:22 น.

สนค. แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศ เผยตัวเลขส่งออกไทย เดือนตุลาคม 2567 ขยายมูลค่า 27,222.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14.6% ขณะที่ตัวเลขส่งออก 10 เดือนแรกของปี มูลค่า 250,398 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.9% ปรับเป้าทั้งปีโต 4%

วันที่ 26 ตุลาคม 2567 นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนตุลาคม ว่าการส่งออกของไทยมีมูลค่า 27,222.1 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 14.6%

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ส่วนการนำเข้ามูลค่า 28,016.4% ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 15.9% ดุลการค้าขาดดุล 794.4 ล้านดอลลาร์ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ทำมูลค่าสูงสุด ในรอบ 19 เดือน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ หลายประเทศยังมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต และวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากจะรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิตแล้ว ยังเป็นการเตรียมความพร้อมเชิงกลยุทธ์เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการค้าระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขณะเดียวกันยังมีปัจจัยบวกจากการขยายตัวของ ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก และสถานการณ์เงินเฟ้อในตลาดส่งออกหลักที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้กำลังซื้อในตลาดเหล่านั้นปรับตัวดีขึ้น

สำหรับภาพรวม 10 เดือนของปี 2567 มีมูลค่า 250,398 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 4.9% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 การนำเข้า มีมูลค่า 257,149.2 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 6.6% ดุลการค้า 10 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,751.2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนตุลาคม 2567 การส่งออก มีมูลค่า 896,735 ล้านบาท หดตัว 5.8% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 934,700 ล้านบาท ขยายตัว 7.1% ดุลการค้า เกินดุล 37,965 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.2%  ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 6.8% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.6% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 10.1% ยางพารา ขยายตัว 32.6% ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 12.4% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 26.7% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 18.2% และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 28%

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัว 3.3% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 30.6% น้ำตาลทราย หดตัว 12.8% และไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัว 46.2% ทั้งนี้ 10 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.6%

นอกจากนี้ ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 18.7%  โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 77.5% ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 27.2% ขยายตัว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 43% เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 18.7% เม็ดพลาสติก ขยายตัว 4.8% เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 2.2% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 44.9% หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 23.1%

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ หดตัว 16.8% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัว 34.7% ทั้งนี้ 10 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 5.2%

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปี 2567 บรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน (working target) ตามที่ได้ตั้งไว้ โดยมีปัจจัยบวกที่สำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ

อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ ในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางรับมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่อไป

นายพูนพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดการณ์ว่าการส่งออกทั้งปี 2567 คาดการณ์ว่าขยายตัว 4% มูลค่ารวมประมาณ 296,000 -300,000 ล้านดอลลาร์ โดยเหลือเวลาอีก 2 เดือนสุดท้าย คาดการณ์มีตัวเลขส่งออกเฉลี่ย 23,040 ล้านดอลลาร์