สวทช.เดินหน้าสร้างอาคารศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ยันเริ่มก่อสร้างได้ธ.ค.นี้ ด้วยงบลงทุนทั้งสิ้นกว่า 2 พันล้านบาท พร้อมเปิดให้บริการเอกชนที่สนใจได้ต้นปี 2564 เผยหากดำเนินงานตามแผนใน 20 ปีข้างหน้า จะก่อให้เกิดการลงทุนงานด้านวิจัยและพัฒนาในพื้นที่ราว 2 แสนล้านบาท
การประกาศเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) พื้นที่กว่า 3 พันไร่บริเวณวังจันทร์วัลเล่ย์ อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นเขตส่งเสริมนวัตกรรมฯ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่สำหรับพัฒนาการศึกษาจำนวน 882 ไร่ เป็นสถานที่ตั้งของสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ที่ได้ลงทุนไปแล้วประมาณ 12,000 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดระยอง ได้มีการประกาศผังเมือง การกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถดำเนินกิจการต่างๆ ออกมาแล้ว ในระยะแรก ทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้เช่าพื้นที่จากปตท.ไปแล้วราว 794 ไร่ เพื่อเป็นพื้นที่ด้านการวิจัยและนวัตกรรม ขณะที่ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภค ด้วยงบลงทุนราว 5 พันล้านบาท
นายทินกร หาญชนะ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าการดำเนินงานว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาอีอีซีไอ ซึ่งขณะนี้พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ใช้สอยจริงราว 350 ไร่ ภาครัฐและเอกชนได้จับจองเต็มพื้นที่แล้ว โดยระยะแรกสวทช.จะพัฒนาที่ดินบนพื้นที่ 96 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ใช้งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรแล้ว 1,142 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างอาคาร เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ขณะที่อีกส่วนจะเปิดให้นักลงทุนที่สนใจใช้บริการเช่าพื้นที่เพื่อวิจัยและนวัตกรรมของตนเองได้
โดยขณะนี้ศูนย์วิจัยดังกล่าวได้ออกแบบเสร็จแล้ว และจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี หรือแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2563 และเปิดให้บริการ ขณะเดียวกันสวทช.อยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบในการจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือในการวิจัยจากรัฐบาลอีกกว่า 1 พันล้านบาท นำมาติดตั้งในอาคารดังกล่าวด้วย
“ในเฟสแรกนี้ จะเป็นการก่อสร้างอาคารด้วยงบ 1,142 ล้านบาท และกำลังอยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณกว่า 1 พันล้านบาท เพื่อมาจัดซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือการวิจัย ซึ่งการเริ่มดำเนินการก่อสร้างศูนย์วิจัยดังกล่าวจะช่วยให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจ จากที่ภาครัฐเข้าไปนำร่อง”
นายทินกร กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีกลุ่มเอกชนและภาครัฐ ที่สนใจเข้ามาจับจองพื้นที่ในอีอีซีไอแล้ว นอกเหนือจาก สวทช. เช่น สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ที่จะก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดซินโครตรอนบนพื้นที่ 33 ไร่ ใช้งบลงทุนกว่า 9.3 พันล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการขอจัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารและจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เข้ามาจับจองพื้นที่ขนาด 72 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ รวมถึงบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือจีพีเอสซี จะใช้พื้นที่ราว 22 ไร่ เพื่อดำเนินการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มขนาด 2.5 เมกะวัตต์ และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการสร้างศูนย์วิจัยและนวัตกรรม
ทั้งนี้ จากดำเนินการดังกล่าวเชื่อว่า ในอนาคตจะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนหรือใช้บริการงานด้านวิจัยในพื้นที่อีอีซีเพิ่มมากขึ้น โดยมองว่าในส่วนของภาครัฐเองจะมีการลงทุนในระยะ 10 ปีนี้ไม่ตํ่ากว่า 2-3 หมื่นล้านบาท และจะก่อให้เกิดการลงทุนในภาพรวมของพื้นที่อีอีซีไอในระยะ 20 ปีข้างหน้าไม่ตํ่ากว่า 2 แสนล้านบาท
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38| ฉบับ 3,414 ระหว่างวันที่ 1-3 พฤศจิกายน 2561