กรมวิชาการเกษตรจับมือเทศบาลนครยะลาหนุนปลูก 'กาแฟ' ทดแทนยางพาราเสื่อมโทรม วางแผนการตลาด ชูรสชาติเป็นลักษณะเฉพาะถิ่น เตรียมสำรวจพื้นที่ปลูกเพิ่มอีก 2 จังหวัดชายแดนใต้ ชี้! ตลาดกาแฟรุ่ง ความต้องการเพิ่มทุกปี
ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดี กรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรและเทศบาลนครยะลาได้ร่วมประชุมหารือปัญหาภาคการเกษตรใน จ.ยะลา โดยเห็นชอบร่วมกันจัดทำโครงการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ จ.ยะลา ปลูกกาแฟเป็นพืชทางเลือก ทดแทนสวนยางพาราที่เสื่อมโทรมและมีปัญหาด้านราคา ตามนโยบายการลดพื้นที่ปลูกยางพาราของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ ปลูกเป็นพืชเสริมรายได้ในระบบการปลูกพืชแบบผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรใน จ.ยะลา มีอาชีพที่มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตรเข้าดำเนินการร่วมกับเทศบาลนครยะลา
[caption id="attachment_348553" align="aligncenter" width="503"]
แปลงต้นแบบกาแฟ[/caption]
ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลาได้วิจัยการปลูก
"กาแฟโรบัสต้า" ตั้งแต่ปี 2555 พบว่า มีการเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตเฉลี่ย 290 กิโลกรัม/ไร่ ตอบสนองได้ดีในสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของ จ.ยะลา ส่วนด้านคุณภาพ คะแนนคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี มีฟองครีมหนา มีกลิ่นหอมของถั่ว รสเปรี้ยวของกรดมะนาว รสชาติอยู่ในกลุ่ม Brown Sugar ซึ่งไม่พบในกาแฟโรบัสต้าที่ปลูกจากแหล่งอื่น และสามารถที่จะพัฒนาให้เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรละเทศบาลนครยะลาได้มอบต้นพันธุ์กาแฟโรบัสต้าให้แก่เกษตรกร จำนวน 40,000 ต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 225 ไร่ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกาแฟโรบัสต้า พร้อมกับจัดทำแปลงต้นแบบเทคโนโลยีการผลิตกาแฟโรบัสต้าให้เกษตรกรได้เข้ามาศึกษาดูงานภายในศูนย์วิจัยพืชสวนยะลา รวมทั้งยังขยายผลสู่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อ.ธารโต จ.ยะลา โดยจัดทำแปลงต้นแบบการปลูกกาแฟในพื้นที่ อบต.คีรีเขต อ.ธารโต จ.ยะลา เพื่อเป็นแปลงเรียนรู้การผลิตกาแฟในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกกาแฟโรบัสต้าเป็นพืชเสริมรายได้
ปัจจุบัน กรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการผลิตต้นพันธุ์กาแฟ จำนวน 100,000 ต้น คิดเป็นพื้นที่ปลูกประมาณ 560 ไร่ เพื่อรองรับความต้องการของเกษตรกร จ.ยะลา ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการปลูกกาแฟทดแทนสวนยางพาราที่เสื่อมโทรม นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยพืชสวนยะลายังร่วมกับเทศบาลนครยะลา และห้างหุ้นส่วนจำกัด Southern Agriculture Product Limited Partnership (SAP) พัฒนาการแปรรูปกาแฟเพื่อให้ได้รสชาติที่มีอัตลักษณ์พื้นถิ่น มีการสร้างแบรนด์ที่เป็นอัตลักษณ์ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของ จ.ยะลา และมีการเชื่อมโยงการตลาดระหว่างเกษตรกรกับโรงงานแปรรูปกาแฟ
"จ.ยะลา ถือเป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องโครงการปลูกกาแฟทดแทนยางพารา ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้รับการประสานให้หาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกกาแฟตามโครงการเพิ่มขึ้นในอีก 2 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี และนราธิวาสด้วย เนื่องจากปัจจุบันตลาดมีความต้องการกาแฟเพิ่มขึ้นทุกปี ผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศ โดยในปี 2560 มีการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบปริมาณ 55,641 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4,359 ล้านบาท ซึ่งสัมพันธ์กับประชากรไทยที่บริโภคกาแฟเพิ่มขึ้น 3-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี" อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
[caption id="attachment_348122" align="aligncenter" width="335"]
[/caption]