ใกล้เดดไลน์วันที่ 5 มกราคม 2562 ของการปิด “โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ” เพื่อทุบทิ้งแล้วสร้างโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯโฉมใหม่ ที่พร้อมจะกลับมาเปิดตัวอีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า ซึ่งโปรเจ็กต์การลงทุนสร้างโรงแรม จัดว่าเป็น 1 ใน 4 ของโครงการมิกซ์ยูส มูลค่าการลงทุนกว่า 3.67 หมื่นล้านบาท ภายใต้บริษัท วิมานสุริยา จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 60:40
โครงการนี้อยู่บนพื้นที่เช่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ระยะเวลา 60 ปี ซึ่งเป็นการขยายสเกลพื้นที่จากเดิมที่มีอยู่ราว 18 ไร่ มาเป็นกว่า 23 ไร่ โดยโครงการนี้กำลังจะกลายเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของการพัฒนาพื้นที่บริเวณหัวมุมถนนสีลม และพระราม 4 โดยโมเดลการลงทุนในโครงการนี้ จะประ กอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่
1. ศูนย์การค้า ตั้งอยู่ตรงกลางของโครงการฯ โดยส่วนชั้นบนดินได้วางคอนเซ็ปต์การพัฒนาพื้นที่ให้คนมาใช้ชีวิตร่วมกัน ส่วนชั้นใต้ดิน จะมีพื้นที่จอดรถ 2 ชั้น และอีก 2 ชั้นเป็นพื้นที่ค้าปลีกเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลม
2. อาคารที่พักอาศัยแบบเรสซิเดนส์ สูงกว่า 60 ชั้น มี 2 แบรนด์ ทั้งแบบลักซ์ชัวรี ใช้แบรนด์ ดุสิต เรสซิเดนส์ของดุสิตฯเอง ส่วนอีกแบรนด์เป็นแนวไลฟ์สไตล์ เตรียมประกาศว่าเป็นแบรนด์ใดในโอกาสต่อไป
3.อาคารสำนักงาน สูงกว่า 40 ชั้น
4. โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งหลังจากปิดให้บริการในวันที่ 5 มกราคม 2562 ก็จะใช้เวลาเคลียร์โรงแรมราว 3 เดือน จากนั้นค่อยดำเนินการรื้อถอนและก่อสร้างโรงแรมใหม่ ซึ่งการให้บริการจะเหมือนกับดุสิตธานีเดิมทุกอย่าง แต่หน้าตาเหมือนเดิม มีความทันสมัยขึ้น จำนวนห้องพักจะลดลงจาก 500 กว่าห้อง เหลือ 250 ห้องพัก สูง 40 ชั้น เพราะจะทำห้องที่มีขนาดใหญ่และเพดานสูงขึ้น มีความทันสมัย และรองรับมาตรฐานเรื่องของอุบัติภัยและสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานใหม่
รวมทั้งชั้นดาดฟ้าที่จะออกแบบให้ผู้ใช้บริการสามารถสัมผัสกับฐานชฎาสีทองบนยอดอาคารซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามฯ ถือเป็นสัญลักษณ์ของโรงแรมที่ตั้งใจเก็บไว้จากอาคารเดิมมาต่อเติมบนอาคารใหม่ พร้อมจัดพื้นที่สำหรับแสดงแกลเลอรีแบบดิจิตอล และมีร้านอาหารกับรูฟท็อปบาร์รอบๆ ฐานชฎาดังกล่าว
ทั้งนี้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่ จะเปิดให้บริการได้อีกครั้งใน 4 ปีข้างหน้า (ปี 2566) ส่วนโครงการอื่นๆ จะทยอยเปิดบริการ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ ภายใน 7 ปีนี้
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การแข่งขันของโครงการมิกซ์ยูสใหม่ๆ บนถนนพระราม 4 เป็นสิ่งที่ย่อมมีอยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยกันยกระดับย่านถนนพระราม 4 ให้น่าสนใจมากยิ่งขึ้น และเติมเต็มในสิ่งที่ยังไม่มี เพราะแต่ละโครงการต่างก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง
จุดเด่นของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โฉมใหม่ เป็นการหลอมรวมระหว่างการเป็นโรงแรมที่มีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีประวัติศาสตร์และมีชื่อเสียงมาอย่างยาวนาน เข้ากับการเปลี่ยน แปลงของยุคสมัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังคงบุคลิกความเป็นไทยร่วมสมัยในแบบดุสิตธานี
“เราตั้งใจที่จะนำชิ้นงานศิลปะสำคัญๆ และองค์ประกอบดั้งเดิมบางส่วนของดุสิตธานี กรุงเทพฯ อาทิ งานไม้สักทองแกะบนฝ้าเพดาน เสาเพนต์ลายไทยและภาพจิตรกรรมที่ห้องอาหารเบญจรงค์ เฟอร์นิเจอร์ ต้นไม้ งานตกแต่งเปลือกอาคาร เป็นต้น ไปอยู่ในโรงแรมแห่งใหม่ด้วยเพื่อให้แขกใหม่ๆ และลูกค้าประจำที่ผูกพันกับโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ รู้สึกอบอุ่นคุ้นเคยเหมือนเดิมเมื่อย่างเข้ามาที่ดุสิตธานี กรุงเทพฯ แห่งใหม่”
ประกอบกับด้วยพื้นที่โครงการจะเป็นผืนเดียวกัน เราจึงตั้งใจทำเส้นรอบวงของถนนรอบโครงการ เพื่อให้รถสามารถวิ่งจากถนนพระราม 4 ออกไปถนนศาลาแดงได้ อีกทั้งตัวศูนย์การค้า จะมีการสร้างทั้งในส่วนพื้นที่ใต้ดิน เพื่อเชื่อมต่อกับการเดินทางของผู้โดยสารที่เดินทางมายังรถไฟฟ้าใต้ดิน และตัวอาคารศูนย์การค้าที่อยู่เหนือพื้นดิน อีกราว 3 ชั้น ก็จะเชื่อมกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเราจะทำเข้าไปจ่อไว้ เพื่อให้โครงการนี้เป็นศูนย์กลางในการจราจรในทุกระนาบ นางศุภจี กล่าวทิ้งท้าย
ด้านนายชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จุดยืนของเราคือการทำให้บุคลิกโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯโฉมใหม่ มีบุคลิกเหมือนอาคารเก่ามากที่สุด เนื่องจากเป็นโรงแรมที่มีอายุมากกว่า 50 ปีและเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย โดยท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย คุณแม่ของผมได้ยึดมั่นความเชื่อในการสร้างโรงแรมที่สะท้อนเอกลักษณ์ความเป็นไทย ใช้ชื่อไทย ให้บริการแบบไทย และนี่คือสิ่งที่กลุ่มบริษัทดุสิตธานีฯเชื่อมาโดยตลอด
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การแข่งขันของธุรกิจโรงแรมเปลี่ยนไป ความต้องการของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป ทำให้กลุ่มดุสิตธานีต้องเลือกว่าจะอยู่ตรงไหน ระหว่างความทรงจำกับความสำเร็จ เราจึงต้องเลือกจุดที่ทำให้โรงแรมของเราแข่งขันได้ในอนาคตอีกหลายสิบปีข้างหน้า โดยอยู่ภายใต้ชื่อไทย บริหารโดยคนไทย ที่ผ่านการยอมรับว่าโครงสร้างโรงแรมเก่ามันเหนื่อยในเชิงการแข่งขัน เลยต้องกัดฟันสร้างโรงแรมขึ้นมาใหม่ เพื่อให้สามารถชนกับโรงแรมอื่นๆ ได้ ผมกับคุณศุภจีเองก็มองตรงกันว่าจะผลักดันให้โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯแห่งใหม่เป็นตัวแทนของประเทศ ไทย เป็นโรงแรมที่โดดเด่นและดีที่สุดตามาตรฐานสากล โดยยึดขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยเป็นหลัก เพื่อให้กรุงเทพฯปรากฏอยู่บนแผนที่ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ตรงตามสิ่งที่คุณแม่ของผมตั้งโจทย์ไว้ตั้งแต่แรก
รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3423 ระหว่างวันที่ 2 - 5 ธันวาคม 2561