คจร. ไฟเขียว! แผนแม่บทขนส่งทางราง M-Map2

03 ม.ค. 2562 | 11:56 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ม.ค. 2562 | 18:56 น.
มติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก ครั้งที่ 1/2562 รับทราบแผนแม่บทการพัฒนาระบบรางพื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่ 2 (M-Map2) และเห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ให้ก่อสร้างพร้อมทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E-W Corridor


 

[caption id="attachment_369419" align="aligncenter" width="503"] สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี[/caption]

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2562 ว่า สรุปสาระสำคัญผลการประชุมได้ ดังนี้ คือ คจร. รับทราบผลการศึกษาการจัดทำทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (Proposed Blueprint for the Second Mass Rapid Transit Master Plan in Bangkok Metropolitan Region : M-Map 2 Blueprint) ที่ประชุมได้รับทราบผลการศึกษาดังกล่าว

โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ สนข. ประสานความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาแผน M-MAP 2 รวมทั้งปรับปรุงแบบจำลองการเดินทางระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (extended Bangkok Urban Model : eBUM) สำหรับใช้วิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณความต้องการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนเพื่อจัดทำแผนการดำเนินงานระยะกลางและระยะยาว โดยมีพื้นที่ศึกษาครอบคลุมพื้นที่ จ.นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสงคราม มีวิสัยทัศน์ "มุ่งสร้างสังคมการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน"


TP12-3342-1B


สำหรับทิศทางและนโยบายการพัฒนาแผน M-MAP 2 ประกอบด้วย 5 นโยบายหลัก ได้แก่ 1) เพื่อบรรเทาการจราจรติดขัดในพื้นที่ศูนย์กลางเมืองกรุงเทพมหานคร 2) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาโครงข่ายรถไฟในภาพรวมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้มีประสิทธิภาพ 3) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงสถานี 4) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และ 5) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงสนามบิน (Global gateways) โดยแผนการดำเนินงาน M-MAP 2 แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย แผนระยะสั้นดำเนินการปี 2561-2565 แผนระยะกลาง ดำเนินการปี 2566–2570 และแผนระยะยาว ดำเนินการปี 2571–2580

ทั้งนี้ JICA ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการออกมาตรการจูงใจประชาชน เพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบการขนส่งทางรางมากขึ้น โดยอ้างอิงประสบการณ์จากที่มีการดำเนินการในประเทศญี่ปุ่น เช่น 1) ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นว่าระบบรางเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้ใบรับรองแก่บริษัทที่สนับสนุนให้พนักงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และให้ความรู้ในเรื่องการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในโรงเรียน 2) สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้พนักงานแต่ละบริษัทเดินทางมาทำงานโดยใช้ระบบขนส่งสาธารณะ และห้ามขับรถยนต์มาทำงานสำหรับพนักงานที่อาศัยอยูในรัศมีไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากที่ทำงาน 3) ลดค่าโดยสารในช่วงเวลาไม่เร่งด่วน เมื่อใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ 4) ปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะให้มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เช่น การใช้บริการรถไฟฟ้าของเด็กนักเรียน เมื่อเด็กนักเรียนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้าด้วยบัตรรถไฟฟ้าระบบจะส่งข้อความผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่แจ้งให้ผู้ปกครองทราบเพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการใช้บริการ และ 5) กำหนดมาตรการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล โดยเพิ่มค่าจอดรถในย่านใจกลางเมือง กำหนดวันปลอดรถยนต์ (Car free day) และเพิ่มอัตราภาษีรถยนต์

 

[caption id="attachment_369422" align="aligncenter" width="503"] ©ID 12019 ©ID 12019[/caption]

นอกจากนั้น คจร. ยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในการจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ประชุมได้รับทราบผลความก้าวหน้าการดำเนินงานฯ ดังกล่าว ตามข้อสั่งการที่ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ครอบคลุมถึงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดผ่านถนนตามแยกต่าง ๆ ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดและการจัดหาพื้นที่จอดรถของประชาชนที่มาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดย สนข. เร่งรัดดำเนินการนำเสนอร่างแผนแม่บทดังกล่าวในการประชุม คจร. ครั้งต่อไป ก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในกำหนดเวลา

ทั้งนี้ คจร. ยังเห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการของผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) และมอบ สนข. บรรจุแผนการพัฒนาโครงการฯ ดังกล่าว ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จากผลการศึกษาฯ พบว่า มีความเหมาะสมที่จะพัฒนาทั้งระบบทางด่วนและระบบขนส่งมวลชนบนแนวสายทางเดียวกัน เนื่องจากปัจจุบันขาดโครงข่ายทางที่จะรองรับการเดินทางในด้านทิศตะวันตกกับด้านทิศตะวันออก


TP12-3313-B

สำหรับโครงข่ายระบบทางด่วนตามแนวสายทางนี้เป็นการเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างด้านตะวันตกกับด้านตะวันออกของถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ประกอบกับโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งทางราง เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางถึง 7 เส้นทางด้วยกัน โดยจะต่อเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูที่แยกแคราย โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่แยกบางเขน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แยกเกษตร โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทาที่แยกทางต่างระดับศรีรัช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีเหลืองที่แยกลำสาลี

โดยที่ประชุมมีมติมอบให้กระทรวงคมนาคมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) และโครงข่ายระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอนทดแทน N1, ตอน N2 และ E-W Corridor โดยให้พิจารณาวางแผนร่วมกันให้เกิดผลกระทบระหว่างก่อสร้างต่อประชาชนให้น้อยที่สุด รวมทั้งให้ทำการก่อสร้างฐานรากของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลไปพร้อมกับการก่อสร้างทางพิเศษ ซึ่งรูปแบบของโครงการจะมีช่วงที่มีทั้งโครงการรถไฟฟ้าและทางพิเศษ ใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกันในช่วงที่อยู่บนถนนประเสริฐมนูกิจ มีระยะทางประมาณ 5.7 กม. โดยทางพิเศษจะใช้เสาตอม่อเดิมที่ก่อสร้างไว้แล้วตั้งแต่ปี 2540 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะมีการก่อสร้างโครงสร้างใหม่ระหว่างเสาตอม่อของทางพิเศษ เพื่อลดผลกระทบด้านค่าก่อสร้าง ปัญหาการจราจรในระหว่างการก่อสร้างและช่วยให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลก่อสร้างได้เร็วขึ้น


0002

นอกจากนั้น ที่ประชุม คจร. ยังมีมติเห็นชอบแผนแม่บทการพัฒนาระบบการจราจรและขนส่งอัจฉริยะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Intelligent Transport System : ITS) และมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้ มีกรอบแนวคิดโดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยพัฒนาการจราจรและขนส่งให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะต่าง ๆ มาผนวกเข้ากับโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะ

ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน การพัฒนาระบบ ITS ในเขตพื้นที่เมืองต่าง ๆ จึงควรนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาผนวกกับโครงสร้างพื้นฐานและยานพาหนะภายในเมือง ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลควรพัฒนาให้เป็น Smart Metropolis หรือ นครหลวงอัจฉริยะ ส่วนในระดับเมืองต่าง ๆ จะนำไปสู่การเป็น Smart City เช่นเดียวกัน ประกอบด้วย 3 เป้าประสงค์หลัก คือ 1) ITS for Green Mobility จากปัญหาการจราจรติดขัด ปัญหามลภาวะภายในเมือง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนพื้นที่รองรับปริมาณจราจรเนื่องจากการก่อสร้าง ทำให้นำมาสู่แนวทางการแก้ไขปัญหา คือ การลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลและการส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 2) ITS Integrated Center จากปัญหาในการดำเนินการด้าน ITS ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยการจัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาบูรณาการในการดำเนินงานภายในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

[caption id="attachment_369425" align="aligncenter" width="503"] ©quinntheislander ©quinntheislander[/caption]

โดยจากกรอบแผนการพัฒนาระบบ ITS ของประเทศ จะมีการตั้งศูนย์บูรณาการ ITS ภายในแต่ละพื้นที่ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการบูรณาการข้อมูลด้านจราจรและขนส่ง ควบคุมและจัดการจราจร และตรวจสอบการกระทำผิดกฎจราจร ซึ่งการดำเนินการของศูนย์ฯ จะเป็นหน่วยงานกลางการแก้ไขปัญหาภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้อย่างบูรณาการ และ 3) ITS Assistive Solution เป็นการนำระบบ ITS มาแก้ไขปัญหาด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญในปัจจุบัน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

"คจร. ยังมีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีความเหมาะสมต่อการจัดตั้งโรงประกอบรถไฟขึ้นในประเทศ เนื่องจากมีความพร้อมในปัจจัยที่จะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตที่สำคัญ คือ มีปริมาณความต้องการรถไฟฟ้ามากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มีเอกชนเจ้าของเทคโนโลยีสนใจลงทุน และมีผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศที่มีศักยภาพ การจัดตั้งโรงประกอบขึ้นในประเทศจะทำให้รัฐบาลสามารถซื้อรถได้ในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่องและเกิดการจ้างงานในประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมฯ ตามผลการศึกษาต่อไป"

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก