'ไทยยูเนียน' หวัง! ยกเลิก "ใบเหลือง" พัฒนาสิทธิมนุษชน "แรงงานบนเรือประมง"

09 ม.ค. 2562 | 09:06 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2562 | 01:03 น.
'ไทยยูเนี่ยน' ระบุ EU ยกเลิกใบเหลืองกับประเทศไทยส่งผลดีต่อแรงงาน ส่งเสริมการพัฒนาด้านสิทธิมนุษชนสำหรับแรงงานบนเรือประมง รวมถึงความโปร่งใสของข้อมูลการจับปลา และสร้างโอกาสให้ประเทศเป็นผู้นำในการปฏิรูปการประมงในภูมิภาค

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า การปรับปรุงกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอุตสาหกรรมประมง ซึ่งสหภาพยุโรป (EU) ตัดสินใจยกเลิกใบเหลืองกับประเทศไทย หลังประเทศไทยได้มีการดำเนินการจัดการเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) มาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินการเรื่องใบเหลืองได้สร้างโอกาสให้ประเทศเป็นผู้นำในการปฏิรูปการประมงในภูมิภาค

ดร.แดเรี่ยน แมคเบน ผู้อำนวยการ กลุ่มการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยยูเนี่ยน กล่าวว่า การกำหนดให้แรงงานข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทยต้องมีบัญชีธนาคารและจ่ายค่าแรงผ่านระบบอิเล็กทรอนิก ที่ช่วยส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนและการปกป้องแรงงานด้วยความโปร่งใสและความเป็นธรรม ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้ดำเนินการเรื่องนี้กับแรงงานทั่วโลก รวมทั้งแรงงานในไทยด้วย


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

"การจ่ายค่าแรงด้วยระบบดิจิทัลไม่เพียงจะส่งเสริมทางด้านการเงิน แต่ยังช่วยให้ผู้หญิงสามารถดูแลการเงินของครอบครัว และจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยส่วนบุคคลของพวกเขาเอง และยังเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจด้วย" ดร.แดเรี่ยน กล่าว

นอกจากนี้ กรมประมงของไทยยังได้สนับสนุนโครงการนำร่องการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบด้วยระบบดิจิทัล ซึ่งไทยยูเนี่ยนได้มีการดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 สำหรับโครงการนำร่องดังกล่าวได้ใช้การเชื่อมต่อผ่านแอพพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือและสัญญาณดาวเทียมบนเรือประมง เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านสิทธิมนุษชนสำหรับแรงงานบนเรือประมง รวมถึงความโปร่งใสของข้อมูลการจับปลา

เมื่อปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ประกาศใช้กฎหมายใหม่ที่บังคับให้เจ้าของเรือประมงไทยที่ทำประมงนอกน่านน้ำสากลต้องจัดให้มีระบบดาวเทียมสื่อสารและอุปกรณ์บนเรือสำหรับแรงงานที่ทำงานในท้องทะเล นี่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการติดต่อสื่อสารในท้องทะเล

"การมีส่วนร่วมของประเทศไทยในกระบวนการบาหลีก็ควรได้รับการยกย่องเช่นกัน" ดร.แดเรี่ยน กล่าว

การทำงานในเรื่องนี้ถือเป็นเวทีของรัฐบาลในการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนถึงวิธีการต่อสู้ที่ดีที่สุด ทั้งในเรื่องการค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์จากแรงงาน ซึ่งไทยยูเนี่ยนคาดหวังว่า การพัฒนาดังกล่าวนี้จะช่วยส่งเสริมการค้าอาหารทะเลจากประเทศไทยไปยังสหภาพยุโรป

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว