แกะรอย 2 โครงการ แทรกแซงสินค้าเกษตร ทิ้งโค้งสุดท้ายรัฐบาล พบพิรุธเพียบ "นํ้ามันปาล์ม" ล็อกสเปก มีวาระซ่อนเร้น เอื้อ "กลุ่มทุนการเมือง" แปลงร่างเป็นออร์แกไนซ์จัดสรรขายนํ้ามันให้ กฟผ. 1.6 แสนตัน "มะพร้าว" เอื้อล้ง-ลานเท หวั่นใช้เงินผิดวัตถุประสงค์
2 โครงการ แทรกแซงดันราคาสินค้าเกษตร ได้แก่
"โครงการจำหน่ายนํ้ามันปาล์มดิบให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)" ตามมาตรการปรับสมดุลนํ้ามันปาล์มในประเทศ วงเงิน 2,880 ล้านบาท จำนวน 1.6 แสนตัน ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีเป้าหมายรับซื้อผลปาล์มจากเกษตรกร ผลปาล์มนํ้ามัน 18% ราคาผลปาล์ม 3.20 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) คำนวณเป็นนํ้ามันสกัดราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม และ
"โครงการรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้ง ปี 2562" จำนวน 5,000 ตัน (25 ล้านลูก) งบประมาณ 33.48 ล้านบาท
ในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ส่อผลประโยชน์จะตกไม่ถึงมือเกษตรกร คำถาม คือ ทำไม? รัฐบาลไฟเขียว
แหล่งข่าวกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" เมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา กรมการค้าภายใน (คน.) ได้เรียกพาณิชย์ 6 จังหวัด ประกอบด้วย พาณิชย์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ตรัง และชลบุรี เพื่อชี้แจงเรื่องร่างสัญญาซื้อขายนํ้ามันปาล์มดิบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีอธิบดีกรมการค้าภายในเป็นประธาน ซึ่งในรายละเอียดมีความไม่ชอบมาพากลและสัญญามีวาระซ่อนเร้นเงื่อนไขคุณสมบัติของผู้สมัคร ว่า ต้องเป็นผู้ที่มีสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบขั้นตํ่าไม่น้อยกว่า 50% ของปริมาณที่เสนอจำหน่าย มีความสามารถในการขนส่ง เก็บรักษา และส่งมอบ
"สาเหตุสัญญาออกมาในลักษณะแบบนี้ เพราะ กฟผ. ไม่มีคลังสำรองนํ้ามันเอง แต่ต้องการความต่อเนื่องของวัตถุดิบต้องแน่นอน การจัดซื้อจัดจ้างจะเห็นว่า มีช่องโหว่ คือ การขนส่งทางเรือจะมีไอ้โม่งมาหาผลประโยชน์จากช่องว่างตรงนี้ เพื่อบริหารจัดการ หรือเรียกว่า
"ออร์แกไนซ์" ให้ทั้งหมด หลักการก็คือ ส่งนํ้ามันปลาล์มดิบ หรือ
'ซีพีโอ' ไปก่อน แล้ว กฟผ. จะให้เงินมา 85% ส่วนอีก 15% จะต้องนำหลักฐานของเกษตรกรมา ว่า ซื้อผลปาล์มจากเกษตรกร 3.20 บาทต่อกิโลกรัม แต่ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรด้วย"
ขณะที่ การนำนํ้ามันปาล์มดิบไปปั่นกระแสไฟฟ้า 1.6 แสนตัน จะเกิดจิตวิทยาตลาดทันที ซึ่ง กฟผ. ใช้ซีพีโอวันละ 40 ตันเท่านั้น จากจำนวน 1.6 แสนตัน เมื่อคำนวณแล้วจะใช้ประมาณ 4,000 วัน หรือคิดเป็น 10 ปี 9 เดือน เพราะต้องผสมกับก๊าซหุงต้มจะได้ความคุ้มค่ามากกว่า จะเห็นว่าเกิดช่องโหว่ ทำให้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น เรียกว่าเป็น
"ออร์แกไนซ์" ในการจัดสรรขายนํ้ามันปาล์มดิบให้ กฟผ.
ซึ่งจะต่างจากโครงการแทรกแซงที่องค์การคลังสินค้า (อคส.) เคยดำเนินการ ที่ อคส. จะรับซื้อนํ้ามันปาล์มดิบและจะเช่าแท็งก์กลางเก็บไว้ แล้วจัดสรรนํ้ามันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. ปัญหา คือ ของหลวงให้ซื้อราคาสูง เกษตรกรจะต้องได้ราคาสูงด้วย แต่ปัญหานี้จะสะท้อนให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างไร ส่วนการตรวจสอบเอกสารหลักฐานง่ายมาก แต่ถ้ามีปัญหาใน 2 โครงการ
"แพะ" ก็คือ ข้าราชการ ที่มักถูกโยนความผิดให้ เช่น ไม่รอบคอบ บกพร่อง และไม่ใช้สามัญสำนึกความรับผิดชอบ เป็นต้น
ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้ปลูกมะพร้าวอินทรีย์และแกนนำจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า โครงการรับซื้อเนื้อมะพร้าวแห้งปี 2562 ปริมาณ 5,000 ตัน เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรผลิตเป็นเนื้อมะพร้าวแห้งเพื่อขายให้โรงงานแปรรูปนั้น ปัจจุบัน ชาวสวนไม่มีมะพร้าวอยู่ในมือแล้ว ผู้ที่ขอโครงการนี้เป็นนักการเมืองที่ต้องการคะแนนเสียงเข้าไปในสภา ไม่แน่ใจว่าโครงการนี้จะยกระดับราคาได้อย่างไร อีกด้านหนึ่งชาวสวนที่มีเอกสารสิทธิ์ โรงงาน หรือ ล้ง คาดว่าจะให้ลูกละ 1 บาท เพื่อสวมสิทธิเข้าร่วมโครงการ
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,439 วันที่ 27 - 30 มกราคม พ.ศ. 2562