ไทยรั้งอันดับ 4 ทุนญี่ปุ่นแห่ปักฐาน รองจากเวียดนาม อินเดีย และจีน ... บิ๊กสภาอุตฯ-สภาหอฯ มั่นใจ! กฎหมายอีอีซี-ไทยมีเลือกตั้ง สร้างความเชื่อมั่นแห่ปักฐานเพิ่ม ... ค่ายใหญ่แดนซามูไรยังลงทุนต่อเนื่อง รายใหม่ชั่งใจ! ไทยหรือเวียดนามดี
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น อ้างผลการสำรวจโดยบริษัทผู้ให้บริการข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย NNA ได้สอบถามกลุ่มตัวอย่างผู้ทำงานให้บริษัทญี่ปุ่นในประเทศฝั่งเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย จำนวน 630 คน พบสัดส่วน 35.7% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ให้ความเห็นว่า เวียดนามมีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับการลงทุนมากที่สุด ตามด้วยอินเดีย จีน และไทย ที่มาอันดับ 4 ซึ่งเลื่อนขึ้นมาจากอันดับ 7 ในปีก่อน
โดยไทยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นำโดย กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดการผลิตและส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2561 ส่วนหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามมองไทยมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเริ่มต้นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่ไทยมี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 หรือ พ.ร.บ.อีอีซี มีผลบังคับใช้แล้วในปีที่ผ่านมา และไทยมีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค. 2562 สามารถสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทยได้ ว่า โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับอีอีซี ซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน จะได้รับการสานต่อจากรัฐบาลชุดใหม่แน่นอน
"นักลงทุนจากญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วและคุ้นชินกับการเมืองไทยดี ยังพิจารณาขยายการลงทุนต่อเนื่อง ส่วนจีนที่มีสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ยิ่งจะย้ายฐานมาไทยและอาเซียนมากขึ้น ส่วนทุนจากประเทศอื่นอาจจะรอดู ว่า หน้าตารัฐบาลใหม่ของไทยจะเป็นอย่างไร ถ้าหน้าตารัฐบาลใหม่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก ก็จะไปต่อได้เร็ว แต่ถ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง หรือ คนละขั้ว ก็ต้องรอดูนโยบายว่าจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่า 3-4 โครงการลงทุนใหญ่ ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอีอีซี เช่น ไฮสปีดเทรน อู่ตะเภา มาบตาพุด แหลมฉบัง คงไม่ล้ม แต่คงต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรอง หรือ ปรับเงื่อนไขให้ลงทุนได้จริง"
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว ยังขยายการลงทุนเพิ่มในไทยเป็นอันดับแรก เพราะมั่นใจการเมืองไทย ไม่ว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ไม่มีใครชะลอ เช่น ค่ายโตโยต้าประกาศลงทุนในไทยต่อเนื่อง ส่วนบริษัทเอสเอ็มอีญี่ปุ่นที่ไม่เคยลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเลือกเวียดนามเป็นอันดับแรก เนื่องจากดูเรื่องสิทธิประโยชน์การลงทุนดีที่สุด ส่วนหนึ่งมองมาที่ไทย จากปัจจุบันการลงทุนในเวียดนาม หรือ จีน เจอต้นทุนแฝงมาก เช่น ต้นทุนแรงงานที่ต้องผ่านบริษัทนายหน้า และค่าจ้างก็ปรับสูงขึ้นทุกปี เป็นต้น
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,443 วันที่ 10-13 กุมภาพันธ์ 2562