| รายงานพิเศษ : กลุ่มเหล็กคาใจ! พิลึก!!! พาณิชย์ไม่ต่อเซฟการ์ด
……………….
ทันทีที่ นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง (คปป.) ออกมาประกาศว่า ไม่มีความจำเป็นต้องขยายเวลาการใช้มาตรการปกป้อง (Safeguard : SG) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ต่อไปอีก 3 ปี หลังจากที่ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมเหล็กยื่นคำร้องขอและให้เปิดการทบทวนเพื่อขยายเวลาในการใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วนที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 3 หลังจากที่ได้ใช้มาตรการครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2556 - 26 ก.พ. 2559 และได้ต่ออายุครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. 2559 และกำลังจะครบอายุการใช้มาตรการดังกล่าวในวันที่ 26 ก.พ. 2562 นี้
คณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องให้เหตุผลว่า ผลการไต่สวนออกมาชัดเจนว่า ปริมาณการนำเข้าของสินค้าที่ถูกไต่สวนมีแนวโน้มลดลง ส่วนแบ่งตลาดสินค้านำเข้าลดลง และอุตสาหกรรมภายในประเทศมียอดขายและการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในปี 2560 และปี 2561 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก ส่วนผลกระทบจากสินค้านำเข้าพบว่า มีผลขาดทุนลดลงและในด้านการจ้างงานมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
การพิจารณาดังกล่าว กำลังสร้างความคลางแคลงใจให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กชนิดดังกล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า การที่ คปป. ไม่ต่ออายุเซฟการ์ด
"เหล็กแผ่นรีดร้อน" ครั้งนี้ ดูพิลึก!!! และมีข้อสงสัยว่า มีเจตนาพิเศษอะไรหรือไม่!
➣
สั่งเลื่อนประชุมกะทันหัน
ทั้งที่ก่อนหน้านั้น คณะอนุกรรมการที่มี นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ก็นั่งเป็นประธาน มีมติเสนอให้ คปป. ต่ออายุ และฝ่ายเลขานุการได้แจกเอกสารการประชุมและเชิญประชุมปลายเดือน ธ.ค. 2561 ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ต่อมากลับถูกสั่งเลื่อนประชุมอย่างกะทันหัน ก่อนประชุมเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนั้นก็สั่งการให้ฝ่ายเลขานุการไปแก้ไขเพิ่มเติมเอกสารที่ใช้ในการประชุมที่เลื่อนมาเป็นต้นเดือน ม.ค. 2562
ผู้ประกอบการในวงการเหล็กยังระบุอีกว่า ได้มีการสอดไส้เพิ่มเติมเอกสารให้คณะกรรมการและประธาน คปป. ลักษณะแบบนี้มีคำถามว่า เป็นการเข้าข่ายเจตนาชี้นำการประชุม โดยละเว้นทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามมาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น พ.ศ. 2550 ที่ให้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องต่อไปอีก
"เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหาย" หรือไม่!
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กรณีนี้และกรณี Safeguard อื่น ๆ คปป. ก็เคยวินิจฉัยการต่ออายุโดยอิงกฎหมายข้อนี้มาตลอด โดยเฉพาะมติคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2559 ต่ออายุ Safeguard เหล็กแผ่นรีดร้อนเจือ ก็ระบุชัดเจนว่า มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องต่อไปอีก 3 ปี
"เพื่อป้องกัน" มิให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในระหว่างการปรับตัว (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2559)
นอกจากนี้ ยังมีมติคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้อง เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2560 กรณีต่ออายุ Safeguard เหล็กแผ่นรีดร้อนไม่เจือ ก็มีผลระบุออกมาชัดเจนเช่นกัน ว่า
"เพื่อป้องกัน" มิให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมภายใน จากการนำเข้าสินค้าฯ เห็นควรขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการปกป้องต่อไปอีก 3 ปี (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2560)
สำหรับคณะกรรมการพิจารณามาตรการปกป้องชุดปัจจุบัน ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการชี้นำของประธาน คปป. ที่เลือกละเว้นไม่ใช้มาตรา 36 ตาม พ.ร.บ. แต่เจตนาบิดเบือนว่า อุตสาหกรรมภายในไม่ได้รับความเสียหายตามมาตรา 16 แต่อย่างใด จึงไม่สามารถขยายระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการได้
ทั้งที่จริงแล้ว มาตรา 16 เรื่องความเสียหาย บรรจุอยู่ในหมวด 2 ของกฎหมาย ซึ่งเป็นการเริ่มต้นกระบวนการพิจารณา หมายถึง การเริ่มกรณี Safeguard เท่านั้น แต่การต่ออายุ หรือ ขยายระยะเวลาบังคับใช้ ตามมาตรา 36 อยู่ในหมวด 4 แยกออกมาต่างหากโดยชัดเจน เกี่ยวกับระยะเวลาในการใช้มาตรการปกป้องและการทบทวน
➣ ข้ามขั้นตอน-รีบด่วนสรุป
หลังจากคณะกรรมการมีมติร่างผลการพิจารณา ว่า ไม่ให้ต่ออายุแล้ว ตามขั้นตอนจะต้องมีการรับฟังความเห็น (Hearing) แล้ว คปป. ต้องพิจารณาผลจากการ Hearing มีการประชุมพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เพื่อวินิจฉัยชั้นที่สุดตามขั้นตอนของกฎหมาย ในเดือน ก.พ. นี้
"เป็นที่น่าแปลกใจ ว่า ทำไมรีบด่วนสรุป โดยแถลงข่าวยืนยันว่าจะไม่ทบทวนและยืนยันไม่ต่ออายุเซฟการ์ด ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้มีการเรียกประชุม คปป. อีกครั้ง ตามขั้นตอนแต่อย่างใด เลยยิ่งสงสัยหนักไปอีกว่า ทำไมต้องร้อนรน โดยมองว่า คปป. เป็นตรายางที่สั่งหันซ้าย หันขวาได้" แหล่งข่าวจากวงการเหล็กรายหนึ่งตั้งข้อสังเกต
เมื่อถามว่า ผลที่จะตามมาหลังจากที่รัฐบาลไม่ปกป้องสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน
จากการสำรวจของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า มี 4 เรื่องหลักที่เป็นประเด็นน่าจับตา
เส้นทางเดินของอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย หากยืนอยู่บนบรรทัดฐานการแข่งขันแบบปกติ อุตสาหกรรมเหล็กไทยแม้ไม่มีเหล็กต้นน้ำในประเทศก็ยังพอแข่งขันได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมา กลับกลายเป็นว่า ต้องยืนอยู่บนความเสี่ยง ต่อสู้กับ
"กลการค้า" ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะเหล็กจากจีนและจากนานาประเทศที่ทะลักเข้ามาตีตลาด รุมทึ้งงานก่อสร้างจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและที่อยู่อาศัยที่กำลังขยายตัวจำนวนมาก อีกทั้งเหล็กบางชนิดยังนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
ภาครัฐถือเป็นที่พึ่ง! น่าจะออกมาตรการรับมือช่วยปกป้องตามความเหมาะสมและทันท่วงที กลับกลายเป็นว่า การทำงานของรัฐกำลังสร้างความคาใจให้กับคนในวงกรเหล็ก โดยเฉพาะข้อสงสัยว่า ทำไมไม่ต่อเซฟการ์ดเหล็กจากการนำเข้าสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่น ๆ ชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน ที่กำลังได้รับผลกระทบ รวมไปถึงเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี (GI) ที่เวลานี้เหลืออยู่เพียงไม่กี่ราย และกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักยิ่งขึ้น ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้สถานะปัจจุบันต้องลดกำลังการผลิตลงและประกาศลดพนักงาน ในขณะที่ ปริมาณการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีก็เข้ามาเติบโตต่อเนื่อง จนยอดการนำเข้าไต่ระดับพุ่งมาถึง 1 ล้านตันต่อปีแล้วในขณะนี้
ถึงที่สุดเชื่อว่า อุตสาหกรรมเหล็กไทยอาจซ้ำรอยอุตสาหกรรมเครื่องจักรที่เปลี่ยนบทบาทจากผู้ผลิตเองในประเทศกลายมาเป็นผู้นำเข้า เมื่อนโยบายการดูแลอุตสาหกรรมเหล็กเดินสวนทางชาวโลกที่ต่างออกมาปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศของตัวเอง แต่ไทยกลับเปิดช่องอ้าแขนรับให้เหล็กนำเข้ามาตีตลาด ... ยังไม่พอ ... กลับเปิดโอกาสให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ทั้งที่ปริมาณเหล็กแต่ละชนิดในเวลานี้ ลำพังกำลังผลิตที่มีอยู่ก็ยังผลิตได้ไม่ถึง 50% แปลว่า ของที่มีอยู่แล้วในประเทศยังอยู่ในสถานะที่ล้นตลาด จนมีเสียงบ่นจากคนในวงการเหล็กว่า ... อุตสาหกรรมเหล็กโดยภาพรวมในเวลานี้ตกอยู่ในสภาพที่
"ตายคาที่" ไปแล้ว!!!