รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) วันที่ 13 พ.ย. 2567 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้แสดงวิสัยทัศน์ How to Reshape Thailand’s Education for the Future ปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างไรให้ก้าวทันโลก ในงาน The Standard Economic Forum 2024 : Brave New Word โดยซีอีโอเครือซีพี ได้เน้นย้ำถึงการศึกษาไทยต้องเร่งปรับจาก 2.0 เป็น 5.0 เพื่อให้ทันยุคสมัยในการเพาะบ่มปัญญาที่เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมเสนอ 14 แนวทางสำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทยให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก
นายศุภชัย กล่าวว่า จากผลการจัดอันดับความสามารถของบุคลากรของไทย จากข้อมูลของ IMD ในปีนี้ไทยอยู่อันดับที่ 47 จาก 67 ประเทศ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ต่ำ สะท้อนให้เห็นว่าเราต้องปรับตัวให้ทัน และต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านการศึกษา และสังคมดิจิทัลมากขึ้น เพราะทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของประเทศคือ "มนุษย์" แต่หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าทางระบบการศึกษา โดยเทียบจากการประเมินทักษะของเด็กในด้านต่าง ๆ รวมไปถึงสัดส่วนของครูและนักเรียน ประเทศไทยยังตามหลังอยู่มาก
ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนา "คน" ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่จะชี้วัดการแข่งขันในตลาดโลก แม้ว่าในเวลานี้ไทยจะยังอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการเข้าถึงข้อมูล และกำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคที่คนและเทคโนโลยีเป็นหนึ่งเดียวกัน ในขณะที่โลกมีความท้าทายในหลายด้าน ไทยจะต้องปรับตัวรับความท้าทาย
กุญแจสำคัญที่จะทำให้คนในประเทศปรับตัวได้ คือการปฏิรูปการศึกษาให้มีคุณภาพ เด็กทุกคนควรเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ระบบการศึกษาจำเป็นต้องเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการสร้างความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทย
นายศุภชัย ยังมองอีกว่า การศึกษาคือการสร้างปัญญา โดยกระบวนการที่จะพลิกโฉมการศึกษาจาก 2.0 เป็น 5.0 ได้ต้องเกิดการปรับเปลี่ยนกรอบความคิด พร้อมทั้งเสนอ SI Transformation Model ที่ประกอบด้วย 5 ฐานสำคัญ คือ 1.Transparency โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด School Grading พร้อมตัวชี้วัดใหม่ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยมีเป้าหมายว่าเด็กทุกคนต้องมีปัญญา เพื่อสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น
2.Market Mechanism การสร้างกลไกตลาดผ่านการให้ความสำคัญและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรมในช่วงเวลาทอง หรือ Primetime ของการออกอากาศ เพราะโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสังคมคือสื่อ
3.Leadership &Talents ครูต้องเป็นโค้ช และระบบการศึกษาต้องไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ พร้อมทั้งควรมีการปรับเงินเดือนของบุคลากรการศึกษาให้สูงขึ้น 4. Child Centric/Empowerment เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning ต้องปรับให้เด็กเป็นนักค้นคว้า ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล" และควรต้องมีวิชาวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาหลักครอบคลุมดิจิทัลกับเอไอ และ 5.Technology เสนอให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพและดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรม
นายศุภชัย ยังได้เสนอ 14 แนวทางในการขับเคลื่อนการศึกษาสู่ปี 2030 ประกอบด้วย 1.มีระบบบริหารจัดการโรงเรียนที่โปร่งใส 2.วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ควรเป็นวิชาบังคับในหลักสูตร 3.เด็กทุกคนควรมีคอมพิวเตอร์สะอาดใช้งานได้ครบถ้วน 4. ทุกโรงเรียนควรเปลี่ยนเป็น Learning Center 5.ตัวชี้วัดของบุคลากรทางการศึกษา ปรับเปลี่ยนเป็นผลสัมฤทธิ์ด้านศักยภาพและคุณธรรมของเด็ก 6. รัฐต้องมี Incentive Content แก่ผู้ผลิต Content ในช่วง Prime Time 7. สนับสนุน 3,000,000 คน เป็นผู้มีทักษะดิจิทัล 8. สร้างสตาร์ทอัพ เพิ่มเป็น 20,000 ราย ภายในปี 2027 9. วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ต้องไม่ใช่แค่เรื่องการคำนวณ แต่เป็นเรื่องการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา 10. ผลักดันมหาวิทยาลัยให้มุ่งเน้นวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
11.ต้องเร่งสร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ด้านบุคลากร ICT TALENT เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีบุคลากรด้าน ICT 12.ควรให้ผลตอบแทนของผู้ที่เรียนจบมาเป็นครู สูงเทียบได้กับแพทย์ วิศวกร 13.ผู้อำนวยการ หรือครูใหญ่ 30,000 คน เป็นบุคลากรที่สำคัญที่สุดด้านการศึกษา ต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก และ 14.สร้างโรงเรียนให้เป็น Smart School เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และการใช้เอไอช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็ก ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยสามารถปรับระบบการศึกษาฝ่าพายุการเปลี่ยนแปลงรับความท้าทายโลกได้อย่างเท่าทัน
ทั้งนี้การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบของพวกเราทุกคน ไม่ว่าภาครัฐ เอกชน เราต้องช่วยกัน