นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เปิดผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าวันนี้ (14 พ.ย.67) ที่ประชุม กนย.ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการขยายสินเชื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง 1.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง วงเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท และ 2.ขยายระยะเวลาสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยได้ขอบคุณทางรัฐบาลและ กยท. และนายสุขทัศน์ ต่างวิระกุล รักษาการผู้ว่าการ กยท. ที่รับปากจะดำเนินงานตามข้อเรียกร้องของสมาคม อาทิ การใช้เอทิธีน เพิ่มผลผลิตยาง ล่าสุด ทางกรมวิชาการเกษตร ได้อนุมัติให้ใช้ห้องปฎิบัติการในประเทศไทยได้ในการตรวจผลวิเคราะห์ ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องใช้ห้องปฎิบัติในต่างประเทศในการรับรอง ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก รวมทั้งการเปลี่ยนพันธุ์ 2 RRIM600 ออกจากยางชั้น 1 และส่งเสริมให้ปลูกยางที่มีผลผลิตสูงก่วา R600 เท่าตัว
อย่างไรก็ดี ในปี 2568 ทางสมาคมฯจะจัดงาน "มหกรรมยางพาราและเกษตรแฟร์ EEC" (ครั้งที่ 3) โดยจะร่วมมือกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อดึงนักลงทุนจาก 5 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง และผู้ที่สนใจจะลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราทั่วโลก เพื่อจัดประชุมวิชาการยางนานาชาติโลก คาดว่าจะได้รับความสนใจ เนื่องจากประเทศไทย ปลูกยางพาราอันดับ 1 ของโลก ซึ่งจะใช้เวทีนี้ในการนำนักลงทุนเยี่ยมชมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด(ระยอง)เพื่อดึงการลงทุน เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ราคายางพาราของไทยมีเสถียรภาพ จากมีการลงทุนและใช้วัตถุดิบยางพาราในประเทศมากขึ้น
“มาตรการต่าง ๆ ที่อนุมัติในครั้งนี้เป็นมาตรการที่ดี แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าอ่อนประชาสัมพันธ์ เกษตรกรเข้าไม่ถึงโครงการ ดังนั้นอยากจะฝากเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย “ นายอุทัย กล่าว
ด้านนายเขศักดิ์ สุดสวาท ประธานเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางภาคอีสานตอนล่าง และนายสวัสดิ์ ลาดปาละ ประธานกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ระดับเขตภาคเหนือ และในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กนย. กล่าวสอดคล้องกันว่า ต้องขอบคุณรัฐบาล และ กนย. ที่ได้เห็นความสำคัญของสถาบันเกษตรกร โดยจะส่งผลดีทำให้สถาบันเกษตรกรช่วยเก็บและดึงยางพาราในตลาดมากขึ้น แม้จะเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่ก็คุ้มเพราะขยายระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ออกไปอีก 4 ปี (ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2567 - 31 มี.ค. 2571) ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างความเข้มแข็งและสร้างโอกาสพัฒนาสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ
นอกจากนี้ ในที่ประชุม กนย. ยังมีมติเห็นชอบ ขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายางออกไป 2 ปี ( ตั้งแต่ 31 ธ.ค. 2566 - 31 ธ.ค. 2568) พร้อมทั้งขยายระยะเวลาชำระคืนเงินกู้โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ เพื่อให้ กยท. สามารถระบายยางในสต๊อกให้แล้วเสร็จพร้อมกันภายในปี 2568 กรณีไม่ทันตามกำหนดเวลา ให้นำเสนอเพื่อผ่านความเห็นชอบใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ ที่ประชุม กนย. ได้มอบหมายให้ กยท. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดทุกโครงการเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยเร็ว
อย่างไรก็ดี นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เผยถึงสาเหตุที่ต้องถอดถอนวาระโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยาง เพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงินสินเชื่อ 3 หมื่นล้านบาทออกไป เนื่องจากเห็นว่ามีการผูกขาดและได้รายเดิม กระจายไม่ทั่วถึง จำเป็นต้องทบทวนโครงการ ซึ่งต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ด กยท.ใหม่