ชาวนา-โรงสีประสานเสียง! ล้มล้างความคิดชาวนาหันปลูกข้าว กข79 แทนข้าวหอมพวง หรือ จัสมิน 85 ไม่ได้ ด้าน นายกโรงสีปราม! อย่าเพิ่งแพร่พันธุ์ ผวาตลาดไม่ตอบโจทย์ ติงให้ทดลองตลาดก่อนปลูก สีแปร ลองขายทั้งในประเทศ-ส่งออก หวั่นซ้ำรอย กข21 ตกม้าตาย ขณะที่ กข77 สีแปรเหมือนรอยไหม้ดำคล้ายมอดกิน ท้ายสุดกระทบชิ่งกับชาวนาโดนกดราคารับซื้อ
"ข้าวหอมจัสมิน" หรือ
"ข้าวหอมพวง" ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่เกาะติดไปกับ พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. .... ยังไม่รู้ผลว่าจะออกหัวหรือออกก้อย แต่ล่าสุด กรมการข้าวแก้เกมโดยการส่ง กข79 น้องใหม่เข้ามาประกวดชิงตลาด หวังครองใจชาวนาไทยแทน
"ความฝัน" จะเป็นจริงหรือไม่ ชาวนา-โรงสีคิดเห็นอย่างไร
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า วันนี้ (21 ก.พ. 62) ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว ครั้งที่ 1/2562 มีมติรับรองพันธุ์ข้าว กข79 ซึ่งเป็นข้าวพื้นนุ่มที่มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 118 วัน หวังว่าจะให้ทดแทนข้าวหอมพวง หรือ ข้าวจัสมิน 85 นั้น
"ยาก" ยกตัวอย่าง กรมการข้าวประกาศวันนี้ แล้วกว่าจะมีพันธุ์ให้ชาวนาปลูกอย่างน้อยต้องรอไปอีก 4 เดือน แล้วการพัฒนาพันธุ์ให้ติดตลาดต้องทำอย่างน้อย 3 ปี กว่าจะทำการค้าและส่งออกได้ รวมประมาณ 5 ปี ดังนั้น ต้องรีบส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์
"แต่จะลบล้าง แล้วสั่งให้ชาวนาเลิกปลูกข้าวหอมพวงไม่ได้ สิ่งเดียวที่จะลบล้างได้ ก็คือ จะต้องทำให้เห็น! ตั้งแต่ปลูก สีแปร คนนิยมรับประทาน ประเทศเวียดนามสามารถครองตลาดข้าวนิ่มได้ใช้เวลา 5 ปี ต้องศึกษา ไม่ใช่จะเห็นผลทันที ไม่ใช่ดีแต่คุย ว่า มีพันธุ์โน้นพันธุ์นี้ อย่าแค่คุย ต้องงัดออกมาแข่งสู้ และข้าวที่กรมรับรองพันธุ์ให้ชาวนาที่ไหนปลูก จะต้องแจกแจงชัดเจน มีโควตาการผลิตเท่าไร ซื้อขายทีไหน จะต้องมีการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นจะซ้ำรอยข้าวพันธุ์ กข21 และ กข77 ชาวนาไม่อยากปลูก ตลาดไม่ตอบรับ สุดท้ายก็หันไปปลูกข้าวที่คิดว่าจะขายได้ ส่วนจะถูกรับรองพันธุ์หรือไม่ ชาวนาไม่ได้สนใจตรงนั้น แค่คิดว่าปลูกแล้วต้องขายได้"
ด้าน
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นพันธุ์อะไรที่ออก พื้นฐานต้องตอบโจทย์ก่อนว่า ตลาดมีความต้องการหรือไม่ 2.ต้องตอบโจทย์เกษตรกร ว่า จะคุ้มทนกับที่ปลูกหรือไม่ คุณสมบัติพิเศษมีอะไรบ้างในการเพาะปลูก ถ้าจะบอกว่าดี พันธุ์รับรอง แต่ทำไมไม่ปลูก แต่ถ้าบอกว่าพันธุ์แล้ว ปรากฎว่า เกษตรกรนิยมปลูก แสดงว่าดีจริง
"กรมการข้าวต้องเชื่อมองค์กรชาวนา เช่น สมาคมชาวนา สมาคมโรงสี สมาคมผู้ส่งออก แล้วไปทดลองปลูกก่อน อาจจะเป็น 500 ไร่ หรือ 1,000 ไร่ แล้วดำเนินการให้ชาวนาเพาะปลูก เก็บเกี่ยว ส่งให้โรงสีแปรเป็นข้าวสาร แล้วให้ผู้ส่งออกดำเนินการส่งออกไปทดลองตลาดก่อน ว่า เป็นอย่างไร แล้วให้ส่งสัญญาณกลับว่า ตลาดโอเค รับได้ แต่ถ้าประกาศรับรองพันธุ์ แล้วประกาศจำหน่ายพันธุ์ทันที แล้วตลาดแป๊กทำอย่างไร อะไรก็ได้ที่เราคิดว่าดี ต้องถามความต้องการของตลาดก่อน เพราะโรงสีเป็นแค่ตัวกลาง แต่ถ้าตลาดดี ผู้ส่งออกและผู้ค้าภายในจะส่งสัญญาณให้ไปหาข้าวชนิดนี้ชนิดนั้นให้หน่อย แล้วให้โรงสีไปบอกกับชาวนา ว่า ทางผู้ส่งออกต้องการพันธุ์โน้นนี่ เช่นเดียวกับข้าวหอมพวง ตลาดต้องการ ชาวนาถึงไปปลูก แม้ว่าพันธุ์นั้นจะไม่รับรองก็ไม่สนใจ อย่างอธิบดีที่กล่าวว่า พันธุ์ข้าวหอมพวงปลอมปนเยอะ คืออะไร ไม่เข้าใจ"
ส่วนข้าวพันธุ์ กข79 ต้องทราบก่อนว่า ตลาดมีความต้องการแค่ไหน แต่ถ้าตลาดต้องการไม่มาก กลับไปส่งเสริมให้ผลิตมาก จะกลายเป็นการกดราคาอีก ยกตัวอย่าง ข้าวหอมมะลิ ที่บอกว่าเป็นข้าวดี ราคาสูงมาก เป็นข้าวดีของประเทศไทย แล้วลองจินตนาการดูว่า หากทุกภูมิภาคของประเทศปลูกข้าวหอมมะลิเหมือนกันหมดเลย จะเกิดอะไรขึ้น ดังนั้น กรมการข้าวขับเคลื่อนนโยบาย
"ตลาดนำการผลิต" ให้เป็นรูปธรรม ที่ผ่านมามีปัญหา
ยกตัวอย่าง
ข้าว กข77 ในช่วงตอนสีแปร ปรากฎว่า เมล็ดคล้ายจุดดำบนเมล็ดข้าวไม่สวย พอโรงสีทราบปัญหานี้แล้ว หากชาวนานำข้าวพันธุ์นี้มาขายในครั้งต่อไป ก็จะถูกกดราคารับซื้อ จนเป็นปัญหาทำให้พันธุ์นี้ตายสนิท ทั้งที่เพิ่งจดรับรองพันธุ์ไปเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2561
ด้าน แหล่งข่าวผู้ส่งออก เผยว่า ในส่วนของผู้ส่งออก ต้องติดตามแนวนโยบายการพัฒนาพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว ซึ่งแนวทางไม่ค่อยสอดคล้องกับภาวะตลาดที่คนนิยมบริโภคข้าวขาวพื้นนิ่ม (นุ่ม) แต่ไม่ใช่ข้าวหอม ที่ผู้ส่งออกพยายามผลักดันให้มีการพัฒนาพันธุ์ออกมาต่อเนื่อง โดยยึดคู่แข่ง คือ เวียดนาม เป็นตัวเปรียบเทียบ ซึ่งทุก ๆ 2 ปี เวียดนามจะมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นข้าวแบบนี้ และตลาดชอบ ขณะที่ ไทยมีแต่พันธุ์เดิม ๆ และส่วนใหญ่ไปเน้นข้าวพื้นแข็งที่เหมาะทำข้าวนึ่ง
"มีกระแสว่า กรมการข้าวมีนโยบายที่จะทำข้าวนุ่ม แต่เป็นเมล็ดสั้น เพราะกลัวว่า ถ้าเป็นเมล็ดยาวจะมีการเอาไปผสมข้าวหอม ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง เพราะตลาดต้องการข้าวขาวพื้นนิ่ม ที่ไม่ใข่ข้าวหอม แต่อาจไม่ต้องยาวเหมือนข้าวหอมก็ได้ ถ้ากลัวคนเอาไปผสมข้าวหอม อีกอย่าง ข้าวหอมมะลิ ก่อนส่งออกมีการตรวจเข้มมาก ถึงขนาดตรวจ DNA ซึ่งปัจจุบันแยกได้ชัดเจนอยู่แล้ว ว่า เป็นข้าวอะไร คงต้องตามต่อว่า นโยบายพัฒนาพันธุ์จะเป็นอย่างไร
ด้าน
นายประสงค์ ประไพตระกูล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดมีความต้องการข้าวพื้นนุ่มเพื่อการบริโภคและส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ฮ่องกง และตลาดอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เนื่องจากเป็นข้าวที่มีความนุ่ม ราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิ ในขณะที่ การผลิตข้าวพื้นนุ่มในประเทศไทยนั้น ยังมีการปลูกในพื้นที่ไม่มากนัก และปลูกอย่างกระจัดกระจาย โดยมีพันธุ์ที่รับรองแล้วให้เลือกเพาะปลูก เช่น กข21, ปทุมธานี 1, กข43, กข47, กข53, กข71 เป็นต้น
แต่ส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดทางลักษณะบางประการ อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคไหม้ ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี สอดคล้องกับความต้องการของตลาด กรมการข้าวจึงได้วิจัยข้าวเจ้าพื้นนุ่มไม่ไวต่อช่วงแสงพันธุ์ใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับชาวนาและเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกข้าว เพื่อทำตลาดในต่างประเทศ
"ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณารับรองพันธุ์ข้าว ครั้งที่ 1/2562 และมีมติรับรองพันธุ์ข้าว กข79 ซึ่งเป็นข้าวพื้นนุ่มที่มีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 118 วัน โดยวิธีปักดำ มีคุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี เมล็ดเรียวยาว ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมาก สามารถผลิตเป็นข้าวสาร 100% ชั้น 1 ได้ เป็นข้าวอมิโลสต่ำ 16.82% ข้าวสุกนุ่ม ให้ผลผลิตสูงเฉลี่ย 809 กิโลกรัมต่อไร่ ศักยภาพสามารถให้ผลผลิตสูง 1,182 กิโลกรัมต่อไร่ เสถียรภาพผลผลิตดีและค่อนข้างต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลและโรคไหม้"
แต่อ่อนแอต่อโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดหลังขาว เหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคเหนือและภาคกลาง หลังจากนี้ กรมการข้าวจะเร่งวางแผนดำเนินการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้เพาะปลูกให้เร็วที่สุด โดยจะใช้เวลาในการขยายพันธุ์ 2 ฤดู ก็จะสามารถมีเมล็ดพันธุ์ชั้นจำหน่ายประมาณ 200 ตัน รองรับพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 500,000 ไร่