วันนี้ (25 พฤศจิกายน 2567) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ว่า จากข้อมูลหนี้สินครัวเรือนล่าสุดในช่วงไตรมาสสอง ปี 2567 ขยายตัวชะลอลง โดยมีมูลค่ารวม 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% จาก 2.3% ของไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6%
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินครัวเรือนไทยต่อ GDP ย้อนหลังพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ซึ่งลดลงเหลือ 89.6% เป็นการปรับลดลงต่ำกว่าสัดส่วน 90% ต่อ GDP เป็นครั้งแรกในรอบ 15 ไตรมาส หรือประมาณ 3 ปีครึ่ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ซึ่งขณะนั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.2%
อย่างไรก็ดีแม้หนี้สินครัวเรือนล่าสุดจะเป็นการลดต่ำสุดนับแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ยังเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากระดับภาระหนี้ที่สูงประกอบกับคุณภาพสินเชื่อที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น สะท้อนจากเงินให้กู้แก่ภาคครัวเรือนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 3 หรือ 38.5% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมดที่หดตัวเป็นครั้งแรกที่ 1.2%
"หากเทียบตัวเลขไตรมาสเทียบไตรมาส ต้องไปดูว่าหนี้ครัวเรือนลดแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าดูตัวเลขในไตรมาสที่สอง ปี 2567 หนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลงมาก ขณะที่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ก็ขยายตัวดีขึ้น ถ้าสามารถรักษาช่องการขยายตัวให้ชะลอตัวลงเรื่อย ๆ ได้ ก็คงทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนปรับตัวดีด้วยเช่นกัน" นายดนุชา กล่าว
ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนยังคงลดลงต่อเนื่อง จากข้อมูลบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ในไตรมาสสอง ปี 2567 ยอดคงค้างสินเชื่อบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) มีจำนวนบัญชี 9.6 ล้านบัญชี เป็นมูลค่ากว่า 1.16 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 8.48% เพิ่มขึ้นจาก 8.01% ของไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวยังเพิ่มขึ้นในสินเชื่อทุกวัตถุประสงค์
สำหรับหนี้ NPLs ที่เกิดขึ้นของครัวเรือนส่วนใหญ่ กว่า 71% อยู่ที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) และเมื่อพิจารณาภาพรวมการขยายตัวของหนี้ NPLs ที่เพิ่มขึ้น 12.2% จะพบว่า มีสาเหตุการขยายตัว (Contribution to growth) มาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก
หากพิจารณาสินเชื่อที่ค้างชำระระหว่าง 30 - 90 วัน (SMLs) มีมูลค่าประมาณ 5.0 แสนล้านบาท หรือมีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.66% ปรับลดลงจาก 4.72% ของไตรมาสก่อน แต่สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นสินเชื่อประเภทเดียวที่มีสัดส่วนหนี้ SMLs ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น
เลขาฯสศช. ประเมินด้วยว่า ในช่วงต่อไปยังต้องติดตามแนวโน้มการก่อหนี้ในกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังเพิ่มขึ้น โดยเป็นหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และอัตราการผิดนัดชำระที่สูง ซึ่งหากครัวเรือนไม่ระมัดระวังในการก่อหนี้หรือไม่มีวินัยทางการเงิน จะนำไปสู่การติดกับดักหนี้
แม้ว่าปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ผ่านมาตรการการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) แต่สัดส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด และมีสัดส่วนของมูลค่าหนี้เสีย (NPLs) สูงที่สุดเมื่อเทียบกับหนี้ครัวเรือนประเภทอื่น
รวมทั้งต้องติดตามความเสี่ยงจากการต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบของครัวเรือน จากสถานการณ์คุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง รวมถึงมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง และมีแนวโน้มเข้มงวดขึ้น เริ่มส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงสินเชื่อของลูกหนี้ โดยเฉพาะลูกหนี้ที่กู้ในระบบเต็มวงเงินแล้ว ทำให้ไม่เหลือทางเลือกจนอาจต้องหันไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ
โดยจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 2566 พบว่า ครัวเรือนไทยก่อหนี้นอกระบบคิดเป็นมูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่กว่า 47.5% เป็นการก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายอุปโภคบริโภค
สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องของครัวเรือน ซึ่งการก่อหนี้นอกระบบจะทำให้ลูกหนี้มีความเสี่ยงในการตกอยู่ในวังวนหนี้สินไม่รู้จบ ทั้งจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกฎหมายกำหนดซึ่งบางครั้งสูงถึง 20% ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปี หรือการถูกโกงจากสัญญาที่ไม่ชัดเจน หรือการใช้วิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมายและรุนแรง เป็นต้น
เช่นเดียวกับผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่องและความสามารถในการช าระหนี้ของครัวเรือน จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยมีผู้ประสบภัยกว่า 3.3 แสนครัวเรือน คิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 4.65 หมื่นล้านบาท ทำให้ครัวเรือนมีปัญหาสภาพคล่องจากรายได้ที่ลดลง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ด้วย
นายดนุชา กล่าว ในแนวทางการดูแลสถานการณ์หนี้ครัวเรือนให้ปรับตัวดีขึ้น ก็ต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะหนี้สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงในชีวิต เช่น หนี้บ้าน หรือหนี้รถยนต์ หรือหนี้ธุรกิจ ขณะที่แนวทางการลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) นั้น คงต้องรอการแถลงข่าวที่ชัดเจนอีกครั้งว่าจะมีมาตรการหรือรูปแบบอะไรออกมา แต่สศช.มองว่า จะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาได้ คาดว่าจะออกมาเร็ว ๆ นี้