"ผู้เลี้ยงหมูทั่ว" ประเทศใจชื้น! หลัง ครม. ไฟเขียวแผนเตรียมความพร้อมรับมือ "โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร" เป็นวาระแห่งชาติ เชื่อจะทำให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ด้าน นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยมั่นใจ! ไทยควบคุมการระบาดได้ กรณีเลวร้ายสุด อาจเกิดโรคในฟาร์มเกษตรกรรายย่อยตามใกล้ชายแดน
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยว่า ทันทีที่ทราบมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 9 เม.ย. 2562 ที่ได้ให้ความเห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) เป็นวาระแห่งชาตินั้น ผู้เลี้ยงสุกรทั้งรายย่อย รายกลาง และรายใหญ่ ต่างยินดี เนื่องจากจะทำให้การป้องกันโรคมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งต้องขอขอบคุณ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ผลักดันเรื่องนี้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ หากใช้กำลังเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์อย่างเดียวในการเฝ้าระวังโรค จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ แต่เมื่อยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ รัฐบาลสามารถบูรณาการหน่วยงาน ทั้งทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และอื่น ๆ ช่วยกันดูแลตามแผนที่กำหนดไว้ได้ดียิ่งขึ้น
⇲ นายสุรชัย สุทธิธรรม
"ถือว่า มติ ครม.ดังกล่าว ออกมาได้ทันสถานการณ์ เนื่องจากอีกไม่กี่วันจะถึงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามาก ขณะเดียวกัน แรงงานต่างด้าวจะกลับประเทศ แล้วเข้ามาเมืองไทยใหม่หลังสงกรานต์ โอกาสที่จะนำเชื้อก่อโรคเข้ามามีมาก ทั้งการไปอยู่ใกล้จุดเกิดโรค หรือ นำผลิตภัณฑ์จากสุกรที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้ามา ล่าสุด องค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) พบจุดเกิดโรคที่กัมพูชา ในเมืองรัตนคีรี ติดชายแดนเวียดนาม ทางสมาคมฯ ได้ประสานกับผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ในกัมพูชาให้ควบคุมโรคโดยด่วนที่สุด เนื่องจากไทยส่งออกสุกรไปยังกัมพูชาด้วย เมื่อใช้ยานพาหนะขนส่งเข้าไป โอกาสที่เชื้อโรคจะปนเปื้อนมาจึงเป็นไปได้ ขณะนี้ จึงเร่งดำเนินการก่อสร้างจุดฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคตามด่านชายแดน" นายสุรชัย กล่าว
ด้านนายสัตวแพทย์ ชื่นชม นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทยกล่าวว่า การที่ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอนั้น สร้างความมั่นใจให้ทุกฝ่ายทั้งผู้เลี้ยงสุกร ผู้ประกอบอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้แก่ อุตสาหกรรมแปรรูปสุกร อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ ตลอดจนเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์เพราะหากโรค ASF ระบาดเป็นวงกว้างในไทย จะสร้างความเสียหายมูลค่ากว่าแสนล้านบาท
ตามแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF ยังได้กำหนดมาตรการชดเชยหากต้องทำลายสุกรซึ่งเป็นส่วนสำคัญเนื่องจากจะทำให้เกษตรกรรายย่อยให้ความร่วมมือในการแจ้งเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดโรคในฟาร์มเพราะมั่นใจได้ว่า จะไม่ขาดทุน ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปควบคุมโรคได้อย่างรวดเร็ว เมื่อมีแผนแผนเตรียมความพร้อมรับมือโรค ASF ระดับชาติแล้ว กรณีเลวร้ายที่สุดอาจมีเกิดโรคในฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยที่อยู่ใกล้ชายแดน แต่เมื่อทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ จะไม่เกิดการระบาดเป็นวงกว้างแน่นอน