เปิดโมเดลใหม่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ... "เจ้าสัวเจริญ" ทุ่ม 1.1 หมื่นล้านบาท ขยายพื้นที่จัดงานเพิ่มเป็น 5 เท่า จาก 2 หมื่น ตร.ม. เป็น 7 หมื่น ตร.ม. รองรับผู้เข้าร่วมงานแสนคน ตั้งเป้าเปิดให้บริการต้นปี 2566 ทั้งชู 4 บริษัทลูกของ เอ็น.ซี.ซี. ขับเคลื่อนรายได้ช่วงปิดศูนย์ประชุม 4 ปี
กว่า 27 ปีของการเปิดให้บริการ "ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์" หลังจากรองรับการจัดงานมาแล้วทั้งหมด 22,709 งาน ตั้งแต่ปี 2534-2562 ในที่สุดก็ได้ปิดให้บริการไป เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2562 เพื่อใช้เวลาอีก 4 ปีจากนี้ ขยายการลงทุนอีก 1.1 หมื่นล้านบาท เพิ่มพื้นที่จัดงานเป็น 5 เท่า
นายศักดิ์ชัย ภัทรปรีชากุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ซี.ซี. แมนเนจเม้นท์ แอนด์ ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด (เอ็น.ซี.ซี.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การลงทุนขยายพื้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มพื้นที่จัดงาน (ในอาคาร) ขึ้นอีก 5 เท่า จาก 2 หมื่นตารางเมตร เป็น 7 หมื่นตารางเมตร ทำให้รองรับผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้น 5 หมื่นคน เป็นสูงสุดกว่าแสนคน รูปแบบในการขยายพื้นที่จะมีส่วนที่เป็นคอนเวนชัน - เอ็กซิบิชัน ฮอลล์ และห้องประชุม 20 ห้อง การสร้างอาคารจอดรถยนต์ 3 พันคัน ภายใต้พื้นที่รวม 2.5 แสนตารางเมตร
การลงทุนที่เกิดขึ้นในสัญญากับกรมธนารักษ์ คาดว่า มูลค่าการลงทุนจะอยู่ที่ 6 พันล้านบาท แต่พื้นที่นี้ติดข้อกฎหมายจำกัดความสูงของอาคารไม่เกิน 23 เมตร ทำให้เราต้องขยายการลงทุนลงใต้ดิน 15 เมตร นอกเหนือจากบนดินที่จะสร้างได้ 2 ชั้น ประเมินแล้วจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 11,000 ล้านบาท คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการอีกครั้งได้ภายในต้นปี 2566 ซึ่ง เอ็น.ซี.ซี. ได้สิทธิดำเนินการเป็นเวลา 50 ปี นับจากที่ได้เซ็นสัญญากับทางกรมธนารักษ์ไปเมื่อต้นปี
การขยายพื้นที่ในครั้งนี้จะทำให้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์มีตำแหน่งทางการตลาด ว่า เป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าขนาดกลาง ทั้งในแง่ของพื้นที่และการรองรับจำนวนผู้เข้าร่วมงาน โดยรูปลักษณ์ของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์โฉมใหม่ก็จะยังคงเป็นสไตล์ไทยโมเดิร์นและจะติดกระจกค่อนข้างมาก เพื่อให้มองเห็นสวนและมีการนำผลงานศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์มาตกแต่งในอาคารโฉมใหม่ด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้การก่อสร้างจะต้องใช้เวลา แต่การทำตลาดจะต้องมีการขายล่วงหน้าข้ามปี โดยเฉพาะการดึงงานระดับนานาชาติ ดังนั้น การขายพื้นที่จัดงานจึงจะเริ่มขายล่วงหน้าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจากการขยายพื้นที่ของศูนย์ฯสิริกิติ์ก็จะทำให้ประเทศไทยมีสถานที่ในการจัดงานไมซ์ อันเป็นบริการใหม่ ๆ ที่จะนำไปโปรโมตดึงงานเข้ามาจัดในไทยด้วยเช่นกัน ... นายศักดิ์ชัย ยังกล่าวต่อว่า สำหรับการปิดให้บริการของศูนย์ฯสิริกิติ์ในช่วง 4 ปีนี้ แม้จะกระทบต่อการหารายได้ที่หายไปราวพันล้านบาทต่อปี แต่บริษัทก็มีแผนในการผลักดันการหารายได้จาก 4 บริษัทลูก ได้แก่ บริษัท เอฟ แอนด์ บี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่จะขยายการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มนอกสถานที่ (เอาต์ไซด์ แคเตอริง)
รวมถึง บริษัท เอ็น.ซี.ซี.อิมเมจ จำกัด ที่ให้บริการด้านการออกแบบก่อสร้างและติดตั้งคูหาสำหรับงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ อาทิ งานคอมมาร์ท, งานหนังสือแห่งชาติ บริษัท เอ็น.ซี.ซี.เอ็กซิบิชั่น ออกาไนเซอร์ จำกัด (นีโอ) เป็นออร์แกไนเซอร์จัดงานแสดงสินค้าที่เราจัดงานเอง ซึ่งมีการจัดงานและใช้พื้นที่ในศูนย์ประชุมและนิทรรศการของคนอื่นด้วยเช่นกัน และบริษัท เอ็น.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล อีเว้นท์ จำกัด ซึ่งทำเรื่องการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ นอกจากนี้ เอ็น.ซี.ซี. ก็ยังมีรายได้จากการบริหารศูนย์ประชุมนานาชาติฯ หาดใหญ่
นายปณต สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท ทีซีซี แอสเซ็ทส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า วันนี้ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงการคลังให้เป็นผู้บริหารงานตลอดมา เราตระหนักดีถึงหน้าที่และความรับผิดชอบที่เรามีต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะศูนย์ประชุมแห่งชาติ และเรามุ่งมั่นและพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยการขยายพื้นที่และปรับปรุงศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อให้พร้อมรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งการขยายพื้นที่ในครั้งนี้จะมีการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีอันทันสมัย การพัฒนาคุณภาพบุคลากร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ คงไว้ซึ่งความเป็นไทยทันสมัย ทำให้เราโดดเด่นเป็นสง่างามในเวทีนานาชาติ รองรับอนาคตที่เราจะกลับมายิ่งใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3462 ระหว่างวันที่ 18 - 20 เมษายน 2562