จีนจัดระเบียบนำเข้าผลไม้ครั้งใหญ่ ผวาสะเทือนส่งออกไทย 3.2 หมื่นล้าน กรมวิชาการเกษตรเร่งต้อนล้งจีน-ไทย ตีทะเบียนหลังบังคับต้องได้มาตรฐาน GMP พ่วงสวนที่ซื้อต้องได้ GAP ใครตกขบวนหมดสิทธิ มีผล 1 ก.ค.นี้
สืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชไทย-จีน (JTC-SPS) ครั้งที่ 6 เมื่อเดือนธันวาคม 2561 ณ กรุงปักกิ่ง ฝ่ายไทยได้นำส่งฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุผลไม้(ล้ง)ที่มีพิธีสารทั้ง 5 ชนิด (ทุเรียน มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย) ให้กับทางการจีนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วแต่เพื่อความสมบูรณ์ ของข้อมูลจึงยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวเป็นระยะๆ เนื่องจากมีผู้มายื่นขอขึ้นทะเบียนอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายจีนจึงขอให้นำส่งเอกสารการขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมภายในวันที่ 1 มิถุนายน และจะเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562 โดยจะมีการปรับข้อมูลดังกล่าวปีละ 1 ครั้ง
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขึ้นทะเบียนสวนผลไม้และโรงคัดบรรจุที่ทางการจีนจะนำมาบังคับใช้ครั้งนี้จะบังคับใช้กับผลไม้ทุกชนิดและกับทุกประเทศที่ส่งออกผลไม้ไปจีนไม่ใช่เฉพาะกับประเทศไทย ความคืบหน้าทางกรมวิชาการเกษตรได้ประกาศให้โรงคัดบรรจุ มาสมัครขึ้นทะเบียนโรงคัดบรรจุภายในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ โดยต้องระบุชื่อบริษัท รหัสผู้ส่งออก หมายเลขทะเบียนสวนหรือรหัสแปลงมาตรฐาน GAP ซึ่งมีเลข 15 หลัก พร้อมระบุวันเดือนปีที่คัดบรรจุและมีคำว่า “Export to China” ซึ่งจะสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยจะพ่วงรายชื่อสวนผลไม้ที่ล้งได้มีการรับซื้อ เมื่อสมัครแล้วจะทยอยตรวจรับรอง ถ้าตรวจไม่ผ่านก็จะไปดึงรายชื่อออก ทั้งนี้สวนผลไม้ที่ปลูกเพื่อส่งออกต้องขึ้นทะเบียนและได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) และโรงคัดบรรจุต้องผ่านมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP)
ปัจจุบันมีล้งส่งออกผลไม้ทุกชนิดที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อส่งออกไปจีนแล้ว 289 ราย คาดจะยังมีล้งที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนอีกในจำนวนใกล้เคียงกัน ขอยํ้าว่าหากไม่มาขึ้นทะเบียนจะไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ ซึ่งทางกรมจะส่งรายชื่อทั้งหมดให้กับทางจีน เพื่อประกาศรับรองรายชื่อผู้มีสิทธิส่งออกไปจีนในเว็บไซต์ต่อไป เรื่องนี้ต้องทำให้สอดคล้องกับกฎระเบียบของทางการจีนซึ่งเป็นตลาดผลไม้ อันดับ 1 ของไทย(กราฟิกประกอบ)
“ในปี 2560 ไทยส่งออกทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้อันดับ 1 ของไทยไปจีนจากผู้ส่งออก 62 ราย จำนวน 18,750 ชิพเมนต์ ปริมาณรวม 305,853 ตันคิดเป็นมูลค่า 15,280.30 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ปริมาณส่งออกได้เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเป็น 559,048 ตัน มูลค่า 31,119 ล้านบาท (ข้อมูลกระทรวงพาณิชย์โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรปี 2561 ไทยส่งออกผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งไปทั่วโลก 8.5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ส่งออกไปจีน 3.2 หมื่นล้านบาท) ดังนั้นในฤดูกาลผลิตปี 2562 จำเป็นต้องจัดระบบโรงคัดบรรจุ และรายชื่อสวนแนบท้ายที่จะต้องแจ้งให้ทางจีนทราบเพื่อไม่ให้การส่งออกสะดุด”
นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี ประธานกรรมการบริษัท ริชฟิลด์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด ผู้ส่งออกทุเรียนรายใหญ่ เผยว่า ผู้ประกอบการพร้อมที่จะทำตามกฎระเบียบใหม่ของจีน ไม่ได้หนักใจ ส่วนคนที่หลบหลีกเลี่ยงดำนํ้าก็คงจะหนักใจ ทั้งนี้จะต้องปฏิบัติให้ได้มาตรฐานเดียวกันหมดไม่ว่าจะเป็นล้งจีนหรือล้งไทยที่ต้องเข้าสู่ระบบ
“เมื่อก่อนคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะกำจัดคนจีนไม่ให้มาแย่งขายกับคนไทย แต่ก็เป็นไปไม่ได้เพราะจีนไม่ได้มาแค่ประเทศไทย ไปดูรอบเพื่อนบ้านเขาก็มาหมดแล้ว ตั้งคำถามว่าทำไมทุเรียนขายดี ขายแพงขนาดนี้เพราะอะไร ก็จากล้งจีนเข้ามาซื้อขายเยอะขึ้น เรียกว่าช่วยกันซื้อ-ขาย ไม่น่าเชื่อว่าปีนี้ห้างทุกห้างในจีนเอาทุเรียนเป็นสินค้าหลักในการทำโปรโมชันเป็นการดึงลูกค้าเข้าห้าง ซึ่งบางห้างต้นทุนสูงก็ยอมขายขาดทุน”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,465 วันที่ 28 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562