อุตสาหกรรมไมซ์ไทยขึ้นแท่นอันดับ4เอเชียด้านการประชุมนานาชาติ ด้วยจำนวน 193 งาน เผยไตรมาส 2 ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยมียอดเดินทางทั้งในและต่างประเทศ 8.1ล้านคน ทำรายได้เพิ่ม 6.27% คิดเป็นเม็ดเงิน 5.4 หมื่นล้าน ด้าน”ทีเส็บ”เดินหน้าเจาะตลาด ASEAN+6, CLMV และยุโรป ดันรายได้ 2.2 แสนล้านบาทตามเป้าหมายปีนี้
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เผยว่า ล่าสุดจากรายงานของสมาคมการประชุมนานาชาติระดับโลกปี 2561 (International Congress and Convention Association - ICCA) อุตสาหกรรมไมซ์ไทย ขึ้นอันดับ 4 ของเอเชียด้านการประชุมนานาชาติด้วยจำนวน 193 งาน รองจาก ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี และเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน ยกระดับขึ้นจากปี 2560 ซึ่งไทยอยู่ในอันดับ 5 ของเอเชีย โดยมีจำนวนงานประชุมนานาชาติ 171 งาน จากรายงานของสมาคมการประชุมนานาชาติระดับโลกปี 2561 ยังพบว่า กรุงเทพ เป็นอันดับ 2 (135 งาน) เชียงใหม่ เป็นอันดับ 25 (25 งาน) และพัทยา เป็นอันดับ 60 (11 งาน) ในด้านการประชุมนานาชาติระดับเมือง
ด้านผลการดำเนินงานส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ไทยไตรมาสที่ 2 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (มกราคม-มีนาคม 2562) นั้น ประเทศไทยยังคงอัตราการเติบโตของธุรกิจไมซ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านปริมาณและรายได้โดยมีจำนวนนักเดินทางไมซ์ทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 8,106,120 คน เพิ่มขึ้น 2.89% สร้างรายได้รวม 54,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.27% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2561
ตลาดไมซ์ต่างประเทศ มีจำนวนรวม 353,256 คน สร้างรายได้ 26,703 ล้านบาท โดยตลาดการประชุมสัมมนาองค์กร (Meetings) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์เข้ามามากที่สุด ในส่วนของตลาดไมซ์ในประเทศ มีผู้เดินทางทั้งสิ้น 7,752,864 คน ทำรายได้ 28,069 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นนักเดินทางกลุ่มงานแสดงสินค้านานาชาติ (Exhibitions)
หากพิจารณารายกลุ่มตลาด สำหรับไมซ์จากต่างประเทศ พบว่า ธุรกิจการจัดประชุมสัมมนาองค์กร มีการเติบโตสูงสุดทั้งจำนวนและรายได้ หรือคิดเป็นจำนวนคนเพิ่มขึ้น 11% มีรายได้เพิ่มขึ้น 7% โดยนักเดินทางไมซ์ที่เดินทางเข้าไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ ประเทศ จำนวน
1 จีน 122,426 คน
2 อินเดีย 40,492 คน
3 ญี่ปุ่น 30,038 คน
4 ฮ่องกง 26,021 คน
5 อินโดนีเซีย 21,202 คน
ขณะที่ตลาดไมซ์ในประเทศ ธุรกิจการให้รางวัลพนักงานเดินทางท่องเที่ยว หรือ Incentives เติบโตสูงสุดทั้งจำนวนคนและรายได้ หรือคิดเป็นการเติบโตด้านจำนวนคน 18% และรายได้ 180% โดยเมืองไมซ์ 5 อันดับแรกที่มี นักเดินทางไมซ์เข้ามามากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และพัทยา ตามลำดับ
“จากภาพรวมของตลาดไมซ์ไทยในไตรมาสที่ 2 นี้ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยยังคงดำรงสถานะจุดหมายปลายทางไมซ์ที่สำคัญและได้รับความไว้วางในการจัดงานอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความผันผวนและสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง ทั้งนี้เป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่ช่วยกันผลักดันให้อุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศเติบโตและเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง”
ทั้งนี้ จากผลการวิจัยของบริษัท ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน (ไทยแลนด์) จำกัด พบว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจของธุรกิจไมซ์ในปีงบประมาณ 2561 มีค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งหมดคิดเป็นมูลค่ารวม 251,400 ล้านบาท สร้างมูลค่าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 177,200 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 1.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ
ผู้อำนวยการ ทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า แนวทางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในครึ่งปีหลัง ทีเส็บ ยังคงดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้ 3 เป้าหมายยุทธศาสตร์หลัก คือ สร้างรายได้ กระจายรายได้สู่ภูมิภาค และการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ด้วยนวัตกรรม พร้อมเตรียมเปิดแผนยุทธศาสตร์ในการยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเน้นการทำงานเชิงบูรณาการที่มีเป้าหมายร่วมกันกับผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์การสร้างรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจ ทีเส็บ เน้นการเจาะตลาด ASEAN+6 และ CLMV ในขณะเดียวกัน ยังคงรักษาตลาดยุโรปสำหรับการเดินทางระยะไกล ผ่านกิจกรรมส่งเสริมตลาดที่หลากหลาย ได้แก่
งาน TIME (Thailand Incentive and Meeting Exchange 2019) 11-15 มิ.ย.
แพคเกจการตลาด ASEAN MAXIMICE จับมือการบินไทย (ตลาด MI)
แพคเกจการตลาด ASEAN Plus 6 Visitor Priviledge Campaign (ตลาด Exhibition)
งานเทรดโชว์ IT&CMA &CTW 2019 กรุงเทพ 24-26 ก.ย.
แพคเกจการตลาด Fly & Meet Bonus จับมือบางกอกแอร์เวย์ (CLMV - ตลาด MI)
CLMV Media Fam Trip (กรุงเทพ-พัทยา) 10-14 มิ.ย.
งานโรดโชว์ London Roadshow 2019 อังกฤษ 15-16 พ.ค.
งานเทรดโชว์ IMEX Frankfurt 2019 เยอรมนี 21-23 พ.ค.
ทางด้านการกระจายรายได้และความเจริญ จะมุ่งในเรื่องการพัฒนาเครือข่าย และส่งเสริมไมซ์ในภูมิภาคผ่าน 5 โครงการเด่นๆ ประกอบด้วย
โครงการจัดเก็บข้อมูลโครงการจัดเก็บข้อมูลด้านไมซ์ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้
(พื้นที่ดำเนินการ 3 ภูมิภาค รวม 20 จังหวัด)
โครงการศึกษาและจัดทำข้อมูลยุทธศาสตร์ของเมืองที่มีศักยภาพ 3 จังหวัด (City Profile)
(กาญจนบุรี อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช)
โครงการ Thailand 7 MICE Magnificent Themes ต่อยอดเส้นทางเชื่อมโยงไมซ์ซิตี้ 9 จังหวัด (สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เชียงราย อุดรธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี)
โครงการไมซ์เพื่อชุมชนปีที่ 2 ขยายเพิ่มส่งเสริมสหกรณ์อีก 50 แห่งทั่วประเทศ
โครงการพัฒนาหลักสูตรระดับชาติสำหรับบุคลากรไมซ์ในประเทศ (National Course)
ในส่วนการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยนวัตกรรม จะมุ่งผลักดันการพัฒนาการจัดงานด้วยนวัตกรรมผ่าน 4 โครงการเด่น คือ 1. โครงการฐานข้อมูลไมซ์เพื่อสร้างนวัตกรรม และเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ (MICE Intelligence & Resource Center) 2. โครงการแอพพลิเคชั่นมือถือสำหรับอำนวยความสะดวกผู้เข้าร่วมงานและผู้จัดงาน (BizConnect และ BizConnect Organizer) 3. โครงการแข่งขันประกวดแข่งขันไอเดียนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ (Thailand MICE Innovation Challenge 2019) และ 4. โครงการพัฒนาและยกระดับธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยสู่ระดับโลกโดยร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)
นอกจากนี้ยังมีการจัดงานไมซ์ที่โดดเด่นในช่วงครึ่งปีหลัง(เมษายน-กันยายน 2562) ซึ่งประมาณการว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานหลักแสนคน อาทิ งานแสดงสินค้านานาชาติ Lanna Expo 2019 จังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าจะผู้ร่วมงาน 400,000 คน งานเมกะอีเวนท์ Thailand Toy Expo 2019 จำนวน 190,000 คน งานเมกะอีเวนท์ Bangkok Entertainment Fest 2019 จำนวน 100,000 คน และ งานแสดงสินค้างานแสดงสินค้าไลฟสไตล์ TCC ขอนแก่น Fair จำนวน 100,000 คน
ในปี 2562 นี้ ทีเส็บกำหนดเป้าหมายว่าประเทศไทยจะมีโอกาสต้อนรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ รวมทั้งสิ้น 35,982,000 คน สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศโดยรวม 221,500 ล้านบาท แบ่งเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศ 1,320,000 คน ทำรายได้ 100,500 ล้านบาท นักเดินทางไมซ์ในประเทศ 34,662,000 คน สร้างรายได้ 121,000 ล้านบาท