กรมปศุสัตว์วิ่งสู้ฟัดผนึกสนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เข้าตรวจจับการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี เผยพบชำแหละสุกรแล้ว 33 ตัวพร้อมกับอุปกรณ์ในการฆ่า กว่า 20 ราย ยึดและแจ้งข้อกล่าวหาผิดกฎหมายต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ
หน่วยปฏิบัติการพิเศษปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายปศุสัตว์ โดยสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดชลบุรี สำนักงานปศุสัตว์เขต 2 กองสารวัตรและกักกัน ด่านกักกันสัตว์ชลบุรี ด่านกักกันสัตว์ฉะเชิงเทรา ด่านกักกันสัตว์ปราจีนบุรีและ ด่านกักกันสัตว์จันทรบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารจากกองรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือสัตหีบ และเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรสัตหีบ เข้าตรวจค้นสถานที่ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฆ่าสัตว์ ในพื้นที่อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ตามที่ได้รับร้องเรียนว่ามีการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต
“ผลการตรวจค้นพบว่ามีการกระทำความผิด จึงได้จับกุมผู้กระทำความผิด พร้อมยึดของกลางเป็นซากสุกรชำแหละจำนวน 33 ตัวนำหนักประมาณ 3,300 กิโลกรัม และอุปกรณ์ที่ใช้ในการฆ่า จำนวน 20 รายการ รวมมูลค่าประมาณ 247,500 บาท เพื่อส่งดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรสัตหีบ จังหวัดชลบุรี โดยแจ้งข้อกล่าวหา 3 กระทง “
1.ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องโทษตามมาตรา 56 ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการฆ่าสัตว์โดยมิได้แจ้งจำนวนสัตว์ที่จะฆ่า แหล่งที่มาของสัตว์ที่จะฆ่า วัน เวลาที่จะฆ่าสัตว์ และชื่อของโรงฆ่าสัตว์ ต้องโทษตามมาตรา 60 ระวางโทษปรับเรียงตามรายตัวของสัตว์ ดังต่อไปนี้ เช่น โคหรือกระบือ ตัวละไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือ แพะ แกะ สุกร หรือนกกระจอกเทศตัวละไม่เกินสองหมื่นบาท หรือ ไก่ เป็ด ห่าน ตัวละไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือ สัตว์อื่น ตัวละไม่เกินสองหมื่นบาท”
3.ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 โดยทำการฆ่าสัตว์นอกโรงฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ ต้องโทษตามมาตรา 63 ระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับการดำเนินการเข้าตรวจค้นจับกุมการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยผิดกฎหมายครั้งนี้ เป็นนโยบายสำคัญของกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก เนื่องจากเนื้อสัตว์ที่ได้จากการประกอบกิจการฆ่าสัตว์ที่ไม่ได้รับอนุญาต จะไม่มีการตรวจสอบใดๆ ไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ และผ่านกระบวนการฆ่าสัตว์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เนื้อสัตว์ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคระบาดติดต่อไปยังผู้บริโภคได้
เช่น โรคท้องร่วงที่เกิดจากเชื้อซัลโมเนลล่า (salmonellosis) โรคพยาธิในระบบทางเดินอาหาร หรืออันตรายจากสารตกค้าง เช่น สารเร่งเนื้อแดง ฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ส่งผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคและอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้การไม่ทราบแหล่งที่มาของสัตว์ที่นำมาฆ่า อาจเป็นสาเหตุการแพร่กระจายของเชื้อโรคระบากสัตว์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคไข้หวัดนก (Avian Influenza : AI)
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการปราบปรามการประกอบกิจการฆ่าสัตว์โดยผิดกฎหมายทั่วประเทศ เพื่อยกระดับให้โรงฆ่าสัตว์มีมาตรฐานเดียวกัน สร้างความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยหรือต้องการร้องเรียนผู้กระทำความผิดกฎหมาย สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัด หรือต้องการร้องเรียนผู้กระทำผิดกฎหมาย ติดต่อกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์โทรศัพท์ 0-2501-3473-5