600 ล้งเปิดศึกแย่งทุเรียน จีนรับไม่อั้นทุกเกรด-เพื่อนบ้านดาหน้าขายแข่ง

24 พ.ค. 2562 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :24 พ.ค. 2562 | 12:15 น.

 

 

ศึก “ทุเรียน” เดือด 600 ล้งรุมแย่งสินค้าส่งออกจีน ชี้ตลาดสดใส ขายได้ทั้งเกรดเอ บี และซี ขณะเพื่อนบ้านมาเลย์ กัมพูชา ลาว ดาหน้าแย่งตลาด ห่วง 2-3 ปี จากนี้ผลผลิตทุเรียนไทยพุ่ง 30-40% หลังเกษตรกรแห่โค่นยางปลูกเพิ่ม หวั่นราคาตก พาณิชย์เร่งหาตลาดใหม่เสริม

ทุเรียน ผลไม้ส่งออกอันดับ 1 ของไทยยังมีอนาคตที่สดใส โดยปี 2561 ไทยส่งออกทุเรียนสดมูลค่า 30,187 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 37% ขณะช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ส่งออกได้ 6,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 195% โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก แต่เวลานี้ทุเรียนไทยเริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น

600 ล้งเปิดศึกแย่งทุเรียน  จีนรับไม่อั้นทุกเกรด-เพื่อนบ้านดาหน้าขายแข่ง

นายภานุวัฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด จังหวัดจันทบุรี เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีนี้คาดปริมาณผลผลิตทุเรียนโดยรวมของประเทศจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25-30% และราคาทุเรียนยังอยู่ในเกณฑ์ดี เฉพาะอย่างยิ่งตลาดใหญ่คือจีน นิยมบริโภคทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปีนี้มีโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง)ในภาคตะวันออกซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่สุดของประเทศ (จันทบุรี ระยอง ตราด) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 300 เป็นกว่า 600 ล้ง (ส่วนใหญ่เป็นล้งเพื่อส่งออกไปจีน)

ทั้งนี้มีนักลงทุนจีนบางรายถึงขั้นมาเฝ้าที่ล้งไทยเพื่อป้องกันการนำทุเรียนไปขายให้คนอื่น ซึ่งราคาทุเรียนเกรดA(พันธุ์หมอนทอง) ราคาหน้าสวน(รุ่นแรก) ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 140-150 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ส่วนเกรด B และ C เฉลี่ยที่ 90-100 บาทต่อกก. (จากปี 2561 ราคาทุเรียนคละเกรดหน้าสวนเฉลี่ยทั้งปีที่ 70-100 บาท/กก.) ซึ่งขณะนี้ผู้ประกอบการจีนบางรายหันมานำเข้าทุเรียนเกรด C จากไทยมากขึ้น เพื่อกระจายไปยังมณฑลต่างๆ ในจีนที่มีกำลังซื้อไม่สูง ทำให้ความต้องการทุเรียนในปีนี้มีมาก

 

“ปีนี้ยังถือเป็นปีทองของทุเรียนไทยในตลาดจีน แม้เศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงจากสงครามการค้า แต่ทุเรียนยังขายได้ แต่ก็มีการแข่งขันที่สูงขึ้น จากมีทุเรียนจากมาเลเซีย กัมพูชา ลาวถูกนำเข้าไปขายแข่ง ซึ่งทุกประเทศมีการพัฒนาสายพันธุ์ และมีการส่งออกมากขึ้น ดังนั้นหากไทยพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไปอาจมีความเสี่ยงในอนาคตได้”

600 ล้งเปิดศึกแย่งทุเรียน  จีนรับไม่อั้นทุกเกรด-เพื่อนบ้านดาหน้าขายแข่ง

อย่างไรก็ตามด้วยผลผลิตทุเรียนที่ออกมาจำนวนมากในปีนี้ และคาดช่วง 2-3 ปีจากนี้ไปพื้นที่ปลูกทุเรียนในจันทบุรี ระยอง และตราดจะเพิ่มขึ้นอีก 30-40% จากมีการโค่นสวนยางเก่าหันมาปลูกทุเรียนที่ได้ราคาดีกว่ามากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มกังวลเพราะหากปริมาณทุเรียนเพิ่มขึ้นเกินความต้องการ อาจทำให้ราคาทุเรียนตํ่าได้ เรื่องนี้ขอให้กระทรวงพาณิชย์เร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อรองรับผลผลิต เช่นตลาดอินเดียที่ขณะนี้มีผู้บริโภคบางส่วนหันมากินทุเรียนไทย

 

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้เร่งดำเนินการเพื่อรองรับผลผลิตทุเรียนที่จะออกมามากในอนาคต โดยหาตลาดใหม่ๆ รองรับ นอกจากตลาดจีนแล้ว ตลาดอินเดีย ตะวันออกกลางถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์มีแผนเดินทางเยือนอินเดียช่วงระหว่างวันที่ 16-21 พฤษภาคม คาดจะมีการหารือกันในเรื่องนี้ด้วย ส่วนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการหาตลาดต่างประเทศน่าจะมีแผนรองรับอยู่แล้ว รวมถึงการเจรจาการค้าในกรอบเอฟทีเอกับอินเดียด้วยในเรื่องของสินค้าก็น่าจะเป็นช่องทางขยายตลาดทุเรียนของไทยในอนาคตด้วย

“สำหรับผลผลิตทุเรียนทั่วประเทศในปีนี้ คาดจะมีประมาณ 8.6 แสนตัน เพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับปี 2561 ที่มีผลผลิตที่ 6.8 แสนตัน ส่วนราคาปีนี้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ ถึงแม้ว่าผลผลิตจะมีปริมาณมากกว่าในปีก่อนแต่ราคาเฉลี่ยทุเรียน (หมอนทอง)อยู่ที่กก.ละ 130-150 บาท อย่างไรก็ตามไม่ต้องการให้เกษตร กรแห่ปลูกทุเรียนมากเกินไป เพราะสุดท้ายหากเกินความต้อง การของตลาดอาจส่งผลต่อราคาได้ ควรปลูกพืชอื่นเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้วย”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3472 วันที่ 23-25 พฤษภาคม 2562

600 ล้งเปิดศึกแย่งทุเรียน  จีนรับไม่อั้นทุกเกรด-เพื่อนบ้านดาหน้าขายแข่ง