มกอช.เร่งขับเคลื่อนบทบาทในเวทีการค้าอาเซียนเวทีโลก หวังปกป้องและเร่งขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารและสินค้าเกษตรมูลค่ากว่า 1.86 ล้านล้าน เร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยให้เป็นมาตรฐานระดับสากล พร้อมเดินหน้าจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในระดับภูมิภาคอาเซียน
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารนับวันมีแนวโน้มการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆไทยในฐานะผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก จะเห็นได้ว่าในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร 1.12 ล้านล้านบาท ส่วนสินค้าเกษตรไทยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.)คาดการณ์ว่าจะมูลค่าการส่งออกในปี 62 มูลค่า 742.46 แสนล้านบาท ดังนั้นเพื่อเป็นการปกป้องและขยายตลาดส่งออกสินค้าของไทย
ในปี 2562นี้ มกอช.จึงมีแผนเร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยให้เป็นมาตรฐานระดับสากลมากขึ้น อาทิ เร่งจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในระดับภูมิภาคอาเซียน โดยมีการประกาศใช้มาตรฐานอาเซียนไปแล้ว จำนวน 51 เรื่อง เป็นต้น
ในขณะเดียวกันยังร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเร่งผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรของอาเซียนให้เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศหรือมาตรฐานโลก โดยมุ่งให้ Codex, OIE และ IPPC ยอมรับในมาตรฐานต่างๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยให้กับประเทศผู้นำเข้าทั่วโลกได้อีกทางหนึ่ง โดยคาดหวังว่าจะส่งผลดีต่อการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรของไทยในระยะยาว ตลอดจนเพื่อให้สินค้าไทยได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นในตลาดโลกโดย ล่าสุดได้ทำสำเร็จในสินค้าหลายชนิดมาแล้ว อาทิ เงาะ ลองกอง กะทิ น้ำปลา
รวมทั้งในการประชุมคณะกรรมการโคเด็กซ์ สาขาผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ (CCPFV) ที่ไทยเป็นประธานในการยกร่างมาตรฐาน มกอช. มีแผนที่จะผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องลำไยอบแห้ง ให้เป็นส่วนหนึ่งของภาคผนวกในร่างมาตรฐานผลไม้แห้งของ Codex เนื่องจากปัจจุบันสินค้าลำไยอบแห้งมีการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ซี่งสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายล้านบาท และยังช่วยรองรับผลผลิตลำไยสดที่มีปริมาณมากในฤดูกาลผลิตทั่วประเทศอีกด้วย
นางสาวจูอะดี กล่าวด้วยว่า การเข้าร่วมกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในระดับระหว่างประเทศแล้ว มกอช.ยังได้เข้าร่วมการจัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในระดับภูมิภาค ได้แก่ อาเซียน ผ่านทางคณะทำงานชุดต่างๆ ภายใต้รัฐมนตรีด้านการเกษตรและป่าไม้ หรือ AMAFF และร่วมเจรจาเพื่อผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย หรือ มกษ.ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐาน Codex ให้เป็นมาตรฐานอาเซียน จนสำเร็จ อาทิ 1. มาตรฐานพืชสวนและพืชอาหารมีการประกาศเป็นมาตรฐานอาเซียนแล้ว 34 เรื่อง 2. มาตรฐานปริมาณสารพิษตกค้าง (MRL) มีการกำหนดค่า ASEAN-MRL ของสารพิษตกค้าง ได้มากกว่า 800 ชนิด ที่สอดคล้องกับมาตรฐาน Codex
3. มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ ASEAN GAP ครอบคลุม 3 กลุ่มสินค้า คือ ผักและผลไม้สด ประกาศเป็นมาตรฐานอาเซียนเมื่อปี 2549 สัตว์น้ำ(กุ้ง) หรือ ASEAN Shrimp GAP ประกาศเป็นมาตรฐานอาเซียนเมื่อปี 2554 โดยประเทศไทยเป็นแกนนำในการยกร่าง สำหรับมาตรฐานด้านปศุสัตว์ อยู่ระหว่างดำเนินการ และ4. มาตรฐานด้านผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปของอาเซียน ภายใต้คณะทำงาน ACCSQ Prepared Foodstuff Product Working Group ได้มีการปรับประสานมาตรฐานด้านระบบ การผลิต และระบบการตรวจสอบรับรอง รวมถึงมาตรฐาน ด้านความปลอดภัยอาหาร ในเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ ระบบการ ควบคุมความปลอดภัยอาหาร 3 เรื่อง คือ สุขลักษณะอาหาร ฉลาก และระบบการควบคุมอาหารของประเทศ
นอกจากนี้ ในปี 2562 มกอช.ยังมีแผนการเจรจาการค้าในหลายเรื่อง อาทิ การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย – ตุรกี ครั้งที่ 6 ในเดือนสิงหาคม 2562 ในประเทศไทย การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและมาตรฐานอาหารระหว่างไทย - ออสเตรเลีย (SPS Expert Group) ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 27-29 สิงหาคม 2562 ณ จังหวัดภูเก็ต การเจรจาข้อบทว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ภายใต้กรอบเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย – สหภาพยุโรป การประชุมคณะทำงานร่วมด้านการเกษตร ฮังการี-ไทย ครั้งที่ 7 (7th Meeting of the Hungary-Thailand Joint Agricultural Working Group: JAWG) ตั้งแต่วันที่ 5-6 มิถุนายน นี้ ณ กรุงบูดาเปสต์ สาธารณรัฐฮังการีและการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-ยูเรเซีย ครั้งที่ 1 เป็นต้น