ธพว.ร่วมกับ ม.กรุงเทพ ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนสร้างดาวเด่นพัฒนากลุ่มชากาแฟและผ้าพื้นบ้าน ในโครงการ SME D Scaleup Local Economy มอบความรู้คู่เงินทุน เผยผู้ประกอบการชุมชนทั่วไทยแห่สมัคร 56 กิจการ
นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากการที่ธนาคารได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพจัดโครงการ SME D Scaleup Local Economy ยกระดับผลิตภัณฑ์กลุ่มชากาแฟและผ้าพื้นเมือง ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ชูอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์ชุมชนในท้องถิ่นสร้างมูลค่าเพิ่มนั้น ปรากฏว่า มีผู้ประกอบการสมัครเข้ามาจากทุกภาคทั่วประเทศ 56 กิจการและผ่านกระบวนการคัดเลือกเข้ารับการอบรม 25 กิจการ โดยเน้นการอบรมที่เข้มข้นทั้งการสัมมนาและเวิร์คช็อปเฉพาะกลุ่มและมีทีมนักศึกษาเข้าสนับสนุนการฝึกปฏิบัติงานจริงร่วมกับผู้ประกอบการทุกรายด้วย ซึ่งมีพิธีเปิดพร้อมการอบรมสัมมนาระหว่างวันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ในการอบรมประกอบด้วยหลักสูตรกระบวนการคิดแบบผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์พร้อมตัวอย่างแนวคิดสูตรสำเร็จของธุรกิจกาแฟไทยที่โด่งดังไปไกลทั่วโลกจากบริษัท ดอยช้างคอฟฟี่ ออริจินอล จำกัด และสูตรสำเร็จของธุรกิจผ้าไทยที่โด่งดังไปไกลทั่วโลกเช่นกันจากมุมมองของนักออกแบบที่นำผ้าไทยสู่สากลแบรนด์ Olanor นอกจากนี้ยังสอนเทคนิคการถ่ายภาพสินค้าจากมือถือเพื่อการโฆษณาจากนิตยสารชั้นแนวหน้าเครือบริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง รวมถึงเทคนิคการค้นหาความสำคัญและการสร้างมูลราคาเพิ่มให้กับสินค้าที่มีเอกลักษณ์ท้องถิ่นหรือข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GI)และหลักการด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มโอกาสของธุรกิจยุคใหม่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังการอบรมผู้ประกอบการได้มีการนำเสนอผลงาน(Pitching) เพื่อชิงเงินรางวัลกว่า 80,000 บาท โดยผลงานผู้ชนะการแข่งขัน 10 รางวัล ประกอบด้วย กลุ่มชากาแฟ ประกวดธุรกิจดีเด่น 1.รางวัลชนะเลิศ คือ Cloudy Cold Brew กาแฟสกัดเย็น ออร์แกนิก คุณเอกชัย ใจอุตม์ มูลค่า 10,000 บาท (นักศึกษาร่วมพัฒนาโครงการได้รับเงินรางวัลมูลค่า 3,000 บาท) และ2.รางวัลที่สอง คือ บริษัท เดอะ กาแฟ การ์เต็ล จำกัด ธุรกิจกาแฟสดครบวงจร คุณปวีณา นิยมรัตน์ มูลค่า 7,000 บาท (นักศึกษาร่วมพัฒนาโครงการได้รับเงินรางวัลมูลค่า 2,000 บาท) เป็นต้น
กลุ่มผ้าพื้นเมือง ประกวดธุรกิจดีเด่น ได้แก่ 1.รางวัลชนะเลิศ คือ อิมปานิ ผ้าขาวม้าแปรรูป คุณศราวุฒิ รักษาพล
มูลค่า 10,000 บาท (นักศึกษาร่วมพัฒนาโครงการได้รับเงินรางวัลมูลค่า 3,000 บาท) 2.รางวัลที่สอง คือ บริษัท ธนสิน บิสิเนสแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผ้าไหมแปรรูป คุณธัญลักษณ์ สิริจินดา มูลค่า 7,000 บาท (นักศึกษาร่วมพัฒนาโครงการได้รับเงินรางวัลมูลค่า 2,000 บาท) เป็นต้น
“ผู้ได้รับรางวัล จะได้รับโอกาสนำเงินไปต่อยอดพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์เพื่อก่อเกิดผลงานสร้างสรรค์สู่ตลาดต่อไปรวมถึงโอกาสในการพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพจะนำผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาแนะนำ ณ สถานประกอบการรวมถึงผู้เข้ารับการอบรมทุกรายจะได้รับคำปรึกษาในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน”