กรมประมง เตรียมประกาศปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2562 ระหว่าง วันที่ 15 มิ.ย. – 15 ส.ค.ของทุกปี และระหว่างวันที่ 1 ส.ค. – 30 ก.ย.ของทุกปี ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ห้ามเครื่องมือ 10 ประเภทเข้าทำการประมง ฝ่าฝืนโทษหนักสูงสุด 30 ล้าน
จากเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา กรมประมงได้มีการปรับปรุงกฎหมายปิดอ่าวไทยรูปตัว ก จากประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประกาศกรมประมง ลงวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เพื่อกำหนดพื้นที่และระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำมีไข่ วางไข่ เลี้ยงตัวอ่อนในที่จับสัตว์น้ำบางส่วนของพื้นที่ 8 จังหวัด ของอ่าวไทยรูปตัว ก ตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ วงจรชีวิตสัตว์น้ำ และสอดคล้องกับมาตรการปิดอ่าวไทย
นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง กล่าวถึงผลของการใช้กฎหมายปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ฉบับใหม่ว่า ผลของการสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำหลังปรับปรุงกฎหมายปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ในปีที่ผ่านมา (อ้างอิงจากการทำประมงของเรือประมงที่ใช้เครื่องมืออวนดำ) พบว่า ผลการจับสัตว์น้ำก่อนมาตรการฯ (เมษายน-พฤษภาคม 2561) มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 2,417 กิโลกรัม/วัน ระหว่างมาตรการปิดด้านตะวันตก (15มิถุนายน-15สิงหาคม 2561) มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 1,258.10 กิโลกรัม/วัน ระหว่างมาตรการปิดด้านเหนือ (1 สิงหาคม-30กันยายน 2561) มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 2,350.77 กิโลกรัม/วัน และหลังมาตรการฯ (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2561) มีอัตราการจับเฉลี่ยเท่ากับ 2,863.28 กิโลกรัม/วัน จึงแสดงให้เห็นว่า มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรในช่วงฤดูการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก สามารถฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสม มีผลผลิตของสัตว์น้ำสูงขึ้น
โดยเฉพาะกลุ่มปลาผิวน้ำ เช่น ปลาสีกุนเขียว ปลาหลังเขียว และปลาตะเพียนน้ำเค็ม อย่างไรก็ตาม ปลาทู สัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ยังไม่ฟื้นตัวเท่าที่ควรจะเป็น ถึงแม้ว่าผลผลิตโดยรวมจะสอดคล้องกับผลการศึกษาทางวิชาการเกี่ยวกับวงจรชีวิตของสัตว์น้ำที่อพยพตามห้วงเวลาในแต่ละพื้นที่ ที่พบว่าในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนของทุกปี จะเป็นห้วงเวลาที่มีสัตว์น้ำขนาดก่อนเริ่มสืบพันธุ์อยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยวัดได้จากการสำรวจพบปลาทูในเขตอ่าวไทยรูปตัว ก ฝั่งตะวันตก (พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 1) มีขนาดเฉลี่ย 13 – 14 เซนติเมตร หรือ ที่ชาวประมงเรียก ปลาสาว ยังไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้ ซึ่งปลาทูกลุ่มนี้จะอพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก ตอนเหนือ (พื้นที่ปิดอ่าวช่วงที่ 2) และพบว่ามีขนาดเฉลี่ย 16-18 เซนติเมตร ถือว่าเป็นแม่ปลาที่พร้อมผสมพันธุ์และจะกลับลงไปวางไข่ในบริเวณอ่าวไทยตอนกลาง (มาตรการปิดอ่าวไทย) ในปีถัดไป ดังนั้น จึงควรมีการคุ้มครองสัตว์น้ำเหล่านี้มิให้ถูกจับหรือทำลายก่อนวัยอันควร และเป็นการเพิ่มทั้งขนาดและมูลค่ารวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญจะช่วยให้ปลาทูกลับฟื้นคืนความสมบูรณ์ดังเดิม
สำหรับ มาตรการปิดอ่าวไทยรูปตัว ก ประจำปี 2562 ในบางส่วนของพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ยังคงกำหนดพื้นที่และระยะเวลาประกาศปิดอ่าวฯ ออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
ช่วงที่ 1 : ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 15 สิงหาคม ของทุกปี ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ฝั่งตะวันตกบางส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร โดยเริ่มจากอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และสิ้นสุดที่อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร
ช่วงที่ 2 : ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 กันยายน ของทุกปี ในพื้นที่จับสัตว์น้ำอ่าวไทยตอนใน ด้านเหนือบางส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และชลบุรี โดยเริ่มจากอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร และสิ้นสุดที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
โดยมีการกำหนดใช้เครื่องมือและวิธีทำการประมงที่สามารถให้ทำการประมงได้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนี้
1. เครื่องมืออวนลากแผ่นตะเฆ่ที่ใช้ประกอบกับเรือกลลำเดียว ขนาดต่ำกว่า 20 ตันกรอส ให้สามารถทำการประมงได้ในเวลากลางคืนและบริเวณนอกเขตทะเลชายฝั่ง
2. เครื่องมืออวนติดตาปลาที่ใช้ประกอบเรือกล ขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ให้ใช้เครื่องมืออวนที่มีช่องตาอวนตั้งแต่ 5 เซนติเมตรขึ้นไป ความยาวอวนไม่เกิน 2,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลำ ทั้งนี้ห้ามทำการประมงโดยวิธีล้อมติดตา หรือวิธีอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน
3. เครื่องมืออวนติดตาชนิด อวนปู อวนกุ้ง อวนหมึก
4. เครื่องมืออวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใช้ประกอบกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ให้ทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
5. กรณีการใช้เครื่องมือลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงไม่เกิน 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลำ สามารถทำการประมงในเขตทะเลชายฝั่งได้
6. กรณีการใช้เครื่องมือลอบปูที่มีขนาดช่องตาท้องลอบ ตั้งแต่ 2.5 นิ้วขึ้นไป และใช้ทำการประมงเกินกว่า 300 ลูก ต้องทำการประมงนอกเขตทะเลชายฝั่ง
7. เครื่องมือลอบหมึกทุกชนิด
8. ซั้งทุกชนิดที่ใช้ประกอบทำการประมงพื้นบ้านในเขตทะเลชายฝั่ง
9. เครื่องมือคราดหอย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯที่เกี่ยวข้องด้วย
10. เครื่องมืออวนรุนเคย โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ ที่เกี่ยวข้องด้วย
11. จั่น ยอ แร้ว สวิง แห เบ็ด สับปะนก ขอ ลอบ ฉมวก
12. เครื่องมืออื่นใดที่ไม่ใช้ประกอบเรือกลขณะทำการประมง
13. การใช้เรือประมงที่มีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส ที่ใช้เครื่องยนต์มีกำลังแรงม้าไม่ถึง 280 แรงม้า โดยใช้เครื่องมือทำการประมงที่มิใช่เครื่องมือทำการประมงบางประเภทที่ถูกกำหนดเป็นประมงพาณิชย์ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ และต้องมิใช่การใช้เครื่องมือทำการประมงอวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตักที่ใช้ประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) รวมทั้งเครื่องมือทำการประมงที่ห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฯ
ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือในข้อ 2 3 4 5 6 และ 7 จะต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ ที่กำหนด และเครื่องมือที่ใช้ทำการประมงต้องไม่เป็นเครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมงตามมาตรา 67 มาตรา 69 หรือ มาตรา 71 (1) แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยในส่วนของบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 30 ล้านบาท ตามขนาดของเรือประมง หรือปรับ 5 เท่า ของมูลค่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า และเครื่องมือ สัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์สินค้าสัตวน้ำ หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้ในการกระทำผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิดจะถูกริบ
อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ขอขอบคุณพี่น้องชาวประมงทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ที่เข้าใจการดำเนินงานของทางภาครัฐและเสียสละยอมปรับเปลี่ยนวิถีการทำประมงแบบดั้งเดิมเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรประมงของประเทศให้มีใช้อย่างยั่งยืน แต่ก็ขอฝากพี่น้องชาวประมงโปรดให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และระมัดระวังการทำการประมง โดยให้ทำประมงเฉพาะเครื่องมือที่ประกาศให้สามารถทำการประมงได้เท่านั้น เครื่องมืออื่นๆ นอกจากชนิดหรือประเภทที่กำหนดไว้ตามประกาศ ห้ามใช้ทำการประมงโดยเด็ดขาด