ธสน.ลุยปรับบริการสินเชื่อส่งออกเพิ่มมูลค่า ชี้ขยายเวลาเวลาไปจนถึงเมษายนปีหน้า พร้อมเพิ่มวงเงินหมุนเวียนได้สูงสุดถึง 8 ล้านบาท ระบุมีสิทธิพิเศษให้กลุ่ม S-curve ได้ลดดอกเบี้ย 2 ปีแรก
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) หรือ ธสน. เปิดเผยว่า ในขณะที่อาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกต่างปรับเปลี่ยนเทรนด์การบริโภคอาหารไปตามไลฟ์สไตล์และรสนิยม ประกอบกับกระแสการรักสุขภาพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารต้องปรับตัวและนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการผลิตสินค้าให้สามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของผู้บริโภคในโลกยุคใหม่ได้
ทั้งนี้ EXIM BANK จึงได้ปรับปรุงบริการ “สินเชื่อส่งออกเพิ่มค่า (EXIM Value Added Credit)” ซึ่งเปิดให้บริการแก่ผู้ส่งออก SMEs ตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจขอรับสินเชื่อส่งออกเพิ่มค่าเป็นมูลค่ากว่า 500 ล้านบาทจนถึงปัจจุบัน โดยขยายระยะเวลาขออนุมัติจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 เพิ่มวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนสำหรับนำไปใช้ในช่วงก่อนและหลังการส่งออกได้สูงสุดถึง 8 ล้านบาท พร้อมสิทธิพิเศษสำหรับผู้ส่งออก SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพและกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายหรือ S-curve ตามนโยบายรัฐบาล จะได้รับส่วนลดอัตราดอกเบี้ย 2 ปีแรกเหลือ Prime Rate -1.50% หรือเท่ากับ 4.75% ต่อปี จากอัตราดอกเบี้ยสำหรับบริการสินเชื่อส่งออกเพิ่มค่าอยู่ที่ Prime Rate -1.25% หรือเท่ากับ 5% ในปัจจุบัน พร้อมฟรีคูปองตรวจวิเคราะห์คุณภาพสินค้าที่บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด มูลค่า 5,000 บาท เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าส่งออกมีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งนี้ บริการสินเชื่อส่งออกเพิ่มค่าแถมวงเงินสินเชื่อเพื่อการนำเข้าด้วย ผู้กู้ไม่จำเป็นต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน สามารถใช้หนังสือค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และบุคคลค้ำประกันได้
“ประเทศไทยมีศักยภาพอย่างมากในการเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูป โดยจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาปรับปรุงอุตสาหกรรมการผลิตและการบริหารจัดการธุรกิจ เพื่อชูคุณภาพสินค้าส่งออกของไทยที่ได้มาตรฐานสากลและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ EXIM BANK จึงพร้อมสนับสนุนการปรับตัวและพัฒนาของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะ SMEs ในกลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารให้สามารถรุกขยายตลาดในต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยสอดคล้องกับเทรนด์การดูแลรักษาสุขภาพและความมีอายุยืนยาวมากขึ้นของประชากรโลก”