‘กรมหม่อนไหม’ จัดประชุมวิชาการหม่อนไหม ชูผลงานวิจัยที่มีการต่อยอดนวัตกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มมูลค่าให้กับไหมไทย พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและลดต้นทุนให้เกษตรกร
นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมากรมหม่อนไหมรับผิดชอบงานการพัฒนาหม่อนไหมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบครบวงจร การพัฒนางานวิจัยจึงเป็นเรื่องตั้งแต่วัตถุดิบต้นน้ำ ไปจนถึงการแปรรูปที่เป็นปลายน้ำ ซึ่งลักษณะของงานวิจัยของไหมที่ออกมาจะต้องเป็นงานวิจัยที่ตอบโจทย์ ทั้งในเรื่องการแก้ปัญหาของเกษตร ผลผลิต การแปรรูป การตลาด และเน้นการต่อยอดนวัตกรรมเพื่อที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าหม่อนไหม นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันงานวิจัยจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมอีกด้วย
สำหรับการคัดเลือกผลงานวิจัยในปีนี้ คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกผลงานวิจัยดีเด่น ประจำปี 2562 ได้พิจารณาผลงานวิจัยที่เข้าร่วมนำเสนอและส่งผลงานเข้าร่วมพิจารณาผลงานวิจัยดีเด่นในงานประชุมวิชาการหม่อนไหมแบ่งประเภทของผลงานเป็น 3 ประเภทตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน คือ 1.งานวิจัยประเภทพื้นฐาน เพื่อแสวงหาความรู้หรือทฤษฎีใหม่หรือการพิสูจน์ทฤษฎีเดิม 2.งานวิจัยประเภทประยุกต์ เป็นการต่อยอดงานวิจัยพื้นฐาน เพื่อให้ได้แนวทางการปฏิบัติหรือแก้ไขปัญหา และ 3.งานวิจัยประเภทพัฒนา เป็นงานวิจัยด้านการส่งเสริมและบริการ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรเป็นผู้ร่วมดำเนินการวิจัย
ทั้งนี้งานวิจัยประเภทพื้นฐาน ผลงานวิจัยระดับดี ได้แก่ การวิเคราะห์ลำดับเบสของ cpDNAtrnL-trnFและ nrDNA ITS ในหม่อนพันธุ์อนุรักษ์ ของนางบุษรา จงรวยทรัพย์ ผลงานวิจัยระดับชมเชย 2 เรื่อง ได้แก่ การศึกษาการแสดงออกของยีนที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โพรลีนเพื่อช่วยคัดเลือกพันธุ์หม่อนในสภาวะขาดน้ำของนางมนัสวี สุริยวนากุล และผลของการใช้เส้นไหมไทยที่สาวด้วยวิธีการต่างๆ ต่อคุณสมบัติผ้าไหมของนายอานุภาพ โตสุวรรณ งานวิจัยประเภทประยุกต์ ผลงานวิจัยระดับดีเด่น ได้แก่ การพัฒนาเยื่อโครงสร้างไฮโดรเจลจากโปรตีนไหมไฟโบรอินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางชีวการแพทย์ของนางสาวศศิพิมพ์ ลิ่มมณี