4 องค์กรจับมือยกระดับชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เข้าสู่ตลาดไมซ์คัดเลือก 8 ชุมชนต้นแบบในภาคเหนือตอนบนเพื่อพัฒนาและทำการตลาด เพิ่มมูลค่า และประสบการณ์ให้กลุ่มประชุม/สัมมนา และเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนไปสู่ตลาดต่างประเทศในอนาคต
กรมการพัฒนาชุม กระทรวงมหาดไทย ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ,คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย)หรือTICA เพื่อส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี สู่อุตสาหกรรมไมซ์ โดยทั้ง 4 หน่วยงานจะร่วมกันทำงานบ่มเพาะ ต่อยอดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีทั่วประเทศ ให้มีความพร้อมในการเข้าสู่อุตสาหกรรมไมซ์ สนองนโยบายภาครัฐในการพัฒนาอัตลักษณ์ท้องถิ่น เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการใช้นวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือสร้างจุดขายของชุมชน เพื่อเป็นส่วนสำคัญร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของไทย
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ว่า จะเป็นการยกระดับชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และสินค้า OTOP ผ่านกระบวนการบ่มเพาะ ต่อยอด โดยใช้หลักการตลาดนำการผลิต/การพัฒนา โดยบูรณาการความร่วมมือและความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) จากทีเส็บ และTICA โดยมีศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสื่อกลาง จึงนับเป็นการทำงานร่วมกับภาคส่วนที่สำคัญของห่วงโซ่บริการไมซ์
ทั้งนี้ กำหนดดำเนินการ (นำร่อง) ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน) โดยกรมการพัฒนาชุมชนได้คัดเลือกชุมชนที่มีศักยภาพและความพร้อมจำนวน 8 หมู่บ้าน/ชุมชน เป็นพื้นที่ดำเนินการในปีแรก และพร้อมขยายความร่วมมือไปยังภูมิภาค/กลุ่มจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
ประกอบด้วย
1. จังหวัดลำพูน ได้แก่ บ้านแพะ อำเภอบ้านธิ และ บ้านดอนหลวง อำเภอป่าซาง
2. จังหวัดลำปาง ได้แก่ ชุมชนท่ามะโอ อำเภอเมืองลำปาง และ บ้านแม่แจ๋ม อำเภอเมืองปาน
3. จังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ บ้านโป่งกวาว อำเภอสะเมิง และ บ้านป่าตาล อำเภอสันกำแพง
4. จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้แก่ บ้านละอูบ อำเภอแม่ลาน้อย และ บ้านป่าปุ๊ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บ ต้องการขยายตลาดไมซ์ไปสู่ภูมิภาค จึงได้จัดตั้งหน่วยผู้เชี่ยวชาญเชิงพื้นที่ขึ้นเพื่อขยายผลความสำเร็จจากโครงการไมซ์ซิตี้ และเล็งเห็นว่าภาคีที่สำคัญของการทำงานภูมิภาค คือ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีเครือข่ายระดับชุมชนทั่วประเทศ ซึ่งทีเส็บ เห็นศักยภาพของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และสินค้า OTOP จึงพิจารณาส่งเสริม และขยายการตลาด ทั้งในส่วนการเพิ่มลูกค้าไมซ์ไปจัดกิจกรรมในชุมชน และนำสินค้า OTOP
รวมถึงผลผลิตการเกษตรในท้องถิ่นมาสู่กลุ่มลูกค้างานประชุม ทั้งในรูปแบบสินค้าที่ระลึก อาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ในกิจกรรมไมซ์ ทั้งนี้ TCEB ได้พัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์ ไว้รองรับในชื่อ MICE Marketplace ที่จะเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลสินค้าและชุมชนของกรมการพัฒนาชุมชนได้ทันที โครงการความร่วมมือนี้ จึงนับเป็นการรวบรวมความเชี่ยวชาญของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถานศึกษามาร่วมกันต่อยอดศักยภาพสินค้าและบริการชุมชน ท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ขยายโอกาสทางการค้าและการตลาด ผ่านการเข้าร่วมงานประชุมและแสดงสินค้า รวมถึงเตรียมความพร้อมในการเจรจาธุรกิจ หรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับไมซ์ในระดับพื้นที่
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช กาญจนการุณ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คณะได้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ ภายใต้สังกัดคณะเศรษฐศาสตร์ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นไมซ์ซิตี้ หนึ่งในห้าของประเทศไทย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ มีประสบการณ์การพัฒนาสินค้า และบริการไมซ์เพื่อตอบโจทย์ตลาดไมซ์คุณภาพ ครั้งนี้ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านไมซ์ จะได้ประยุกต์ความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ด้านการออกแบบ การจัดการข้อมูล และอื่นๆ มาใช้เชิงพาณิชย์นับเป็นการขยายผลองค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ด้วย
นายสุเมธ สุทัศน์ ณ อยุธยา นายกสมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) ผู้แทนฝั่งเอกชนยืนยันถึงความพร้อมของการเชื่อมโยงชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพื่อลูกค้าไมซ์ ว่า ปัจจุบันลูกค้าไมซ์ต้องการได้รับประสบการณ์การจัดกิจกรรมในพื้นที่ระดับชุมชน รวมถึงการนำประเพณีวัฒนธรรมของประเทศไทยมาเป็นกิจกรรมสาธิตในระหว่างงานประชุม ความร่วมมือนี้จึงเป็นการเพิ่มเสน่ห์ไทยให้งานไมซ์ได้อย่างโดดเด่น โดย TICA ซึ่งเป็นสมาคมของผู้ให้บริการด้านไมซ์ ทั้งบริษัทที่จัดงาน โรงแรม และศูนย์ประชุม พร้อมให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ตั้งแต่ต้นน้ำในการบ่มเพาะให้ความเข้าใจ เตรียมความพร้อมชุมชน ไปจนถึงการเชื่อมโยงให้สมาชิกพาลูกค้าไปจัดกิจกรรมไมซ์เน้นการขายแบบสร้างสรรค์ประสบการณ์ร่วมกับคนในชุมชน
ผลสำเร็จของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ จะช่วยยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมไมซ์ เปิดตลาดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีไปสู่ตลาดสินค้าและบริการสร้างสรรค์มูลค่าสูง และ ภาคีทั้ง 4 หน่วยงาน เชื่อมั่นว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) สร้างมูลค่าเพิ่มในตลาดการค้าอีกไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้ไปสู่เศรษฐกิจรากหญ้า จากมูลค่าตลาดไมซ์ของประเทศไทยอยู่ที่ 212,924 ล้านบาท โดยมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศรวมทั้งสิ้น 34,267,307 คน จำแนกเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศจำนวน 1,255,985 คน ก่อให้เกิดรายได้ 95,623 ล้านบาท และนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศจำนวน 33,011,322 คน ก่อให้เกิดรายได้ 117,301 ล้านบาท