รีดภาษีเบียร์ 0% พ่นพิษ ผู้ประกอบการชี้เป็นไปตามเทรนด์โลกและข้อกำหนดองค์การอนามัยโลก หวังส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบ พร้อมขอความชัดเจนในการจัดเก็บ ฟาก “TAP” ยินดีปฏิบัติตามข้อกฏหมาย พร้อมปรับแผนจ่อส่งทัพอาร์ทีดีแอลกอฮอล์ต่ำรุกตลาดแทน
ภายหลังกรมสรรพสามิตเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือ เบียร์แอลกอฮอล์ 0% โดยได้หารือกับผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้ว 2 รอบแต่ยังมีความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งก็มีทั้งฝั่งที่เห็นด้วยและฝั่งที่ไม่เห็นด้วย และจากมาตรการที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างเริ่มเตรียมผลักดันยุทธศาสตร์หรือแนวทางการดำเนินงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการการจัดเก็บภาษี
แหล่งข่าวรายหนึ่งในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระบุว่า สำหรับมาตรการจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% ที่กำลังมีการผลักดันในไทยนั้น หากจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้วค่อนข้างขัดกับนโยบายขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ต้องการสนับสนุนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำ ด้วยหวังช่วยลดปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์แบบไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งการรุกเข้าทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ประกอบการทั่วโลกในปัจจุบันสอดคล้องกับเทรนด์โลก และนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการผลักดันและส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชากรด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 0% หรือแอลกอฮอล์ต่ำ ซึ่งไม่ใช่การส่งเสริมนักดื่มหน้าใหม่แต่อย่างใด
“ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกอบด้วย 2ขาหลัก ได้แก่เก็บภาษีตามปริมาณ และเก็บภาษีตามมูลค่า ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันเบียร์เสียภาษีอยู่ที่ 22% เมื่อคิดจากฐานราคาขายต่อขวดต่อกระป๋อง ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นมีอัตราภาษีอยู่ที่ 14% ,สุราขาว 2% และเครื่องดื่ม Ready to Drink(RTD) มีอัตราต่ำกว่า 14% ซึ่งจากโครงสร้างดังกล่าวจึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า ในส่วนของการเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จะมีวิธีคิดแบบใด ซึ่งในกลุ่มเบียร์ 0% ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ และจากความต่างของโครงสร้างภาษีนี้อาจจะทำให้เกิดเซกเมนต์ใหม่ๆในตลาดแอลกอฮอล์ขึ้นมาอีกก็ได้ ซึ่งตรงนี้ก็อยากให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วยในแง่ของการจัดเก็บ”
สอดคล้องกับที่ “นายธนากร คุปตจิตต์” นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เคยแสดงความเห็นในเรื่องภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มเบียร์ไร้ 0% แอลกอฮอล์ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักดื่มหน้าใหม่ แต่เป็นการช่วยลดปัญหาหลายๆ เรื่องมากกว่า อาทิ ด้านสุขภาพ ตลอดจนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ขององค์การอนามัยโลก ในการที่จะลดปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเมาแล้วขับ ซึ่งในส่วนของต่างประเทศเองมีทั้ง ไซเดอร์ ไวน์ ไวน์คูลเลอร์ รัม ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เป็น 0%
ด้านแหล่งข่าวจากแบรนด์ “ไฮเนเก้น” หรือ กลุ่มบริษัททีเอพี เปิดเผยว่ากับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อกฎหมายทุกอย่าง หากมีการประกาศการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์สกัด 0% แต่ทว่าบริษัทก็จำเป็นจะต้องมีการมองหาเครื่องดื่มแคทิกอรี่ใหม่ที่มีการจัดเก็บอัตราภาษีน้อยกว่าเข้ามาทำตลาดแทน โดยเฉพาะในกลุ่ม RTD ที่มีแอลกอฮอล์ต่ำ 2% ทั้งในกลุ่มไวน์คูลเลอร์ และไซเดอร์ เข้ามาทำตลาดในไทย โดยมีความเป็นไปได้ทั้งการเลือกจากพอร์ตเดิมในบริษัทแม่ที่มีอยู่ หรือการพัฒนาขึ้นมาใหม่
“ที่ผ่านมาการเปิดตัวเครื่องดื่มมอลต์สกัด 0% ของเราในไทยด้วยต้องการตอบรับนโยบายขององค์การอนามัยโลกในการรณรงค์การดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบและรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหากมีมาตรการจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% ออกมาเราก็พร้อมจะปฏิบัติตามข้อกฎหมายแต่ขณะเดียวกันก็ต้องมองว่าสินค้าอื่นๆในกลุ่มแอลกอฮอล์ต่ำ เข้ามาด้วย”