ทุนนํ้าเมากระอัก รีดภาษีเบียร์ 0% พ่นพิษ ชี้เป็นกลไกด้านการตลาดที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกและมาตรการดื่มบนความรับผิดชอบของ WHO ฟากผู้ประกอบการค่ายยักษ์ “TAP” ยํ้าชัด พร้อมปฏิบัติตามข้อกฎหมายก่อนเล็งหาทางออก ด้วยการต่อยอดเครื่องดื่มอาร์ทีดีเจาะตลาดเสริมแกร่งพอร์ตแอลกอฮอล์
กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เมืองไทยไปแล้ว ภายหลังกรมสรรพสามิตเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ให้จัดเก็บภาษีเบียร์ไม่มีแอลกอฮอล์หรือ เบียร์ 0% โดยได้หารือกับผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไปแล้ว 2 รอบแต่ยังมีความเห็นที่แตกต่าง ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และจากมาตรการที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเตรียมผลักดันยุทธศาสตร์หรือแนวทางการดำเนินงานใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการการจัดเก็บภาษี
ทั้งนี้หากย้อนไปช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาตลาดเริ่มได้เห็นการปรับตัวของผู้เล่นในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในตลาดเบียร์ ที่เริ่มมีการปรับทัพรับเทรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตํ่า (Low Alcohol) เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของคนรุ่นใหม่ที่ไลฟ์สไตล์ชิลๆ หรือแค่เพื่อสังสรรค์แบบไม่มึนเมา และไม่นิยมดื่มแบบฮาร์ดคอร์เหมือนในอดีต ส่งผลให้ผู้ประกอบการต่างเริ่มทยอยพัฒนาสูตรเบียร์แอลกอฮอล์ตํ่า จนถึงเบียร์ 0% เพื่อรองรับความต้องการและสร้างเซ็กเมนต์ที่หลากหลายในท้องตลาด ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ต้องการให้ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรับลดปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มลง
เทรนด์แอลกอฮอล์ตํ่ามาแรง
ไล่เรียงมาตั้งแต่แบรนด์ “ช้าง” ของไทยเบฟเวอเรจที่เปลี่ยนตราสินค้าและบรรจุภัณฑ์ใหม่ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมกับการปรับปริมาณแอลกอฮอล์เหลือ 5.0% จากเดิมที่มีอยู่ 5.2% ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ค่ายสิงห์ จะคลอด “ยูเบียร์” ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 5.0% ที่เน้นเจาะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ออกมาตามลำดับ แต่กระแสไม่รุนแรงเท่ากับการเปิดตัวเบียร์ 0% ของค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง “ไฮเนเก้น” และ “บาวาเรีย” เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็มีเบียร์น้องใหม่ดีกรีตํ่า ที่ผลิตและวางขายเกลื่อนเมือง ที่กระแสสังคมมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจน และกระแสดังกล่าวยังส่งแรงกระเพื่อมขนาดยักษ์ไปยังกรมสรรพสามิต ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ผู้บริหารในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า มาตรการจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% ที่กำลังมีการผลักดันในไทยนั้น หากจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้วค่อนข้างขัดกับนโยบายขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่ต้องการสนับสนุนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 0% หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ตํ่า ด้วยหวังช่วยลดปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์แบบไม่มีความรับผิดชอบ ซึ่งการรุกเข้าทำตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ประกอบการทั่วโลกในปัจจุบันสอดคล้องกับเทรนด์โลก และนโยบายของ WHO ที่ต้องการผลักดันและส่งเสริมสุขภาพอนามัยของประชากรด้วยการหันมาให้ความสำคัญกับการผลิตเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 0% หรือแอลกอฮอล์ตํ่า ซึ่งไม่ใช่การส่งเสริมนักดื่มหน้าใหม่แต่อย่างใด และการจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% ยังไม่มีประเทศใดในโลกออกกฎหมายดังกล่าว
ตั้งโต๊ะเจรจาหาข้อสรุป
“ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประกอบด้วย 2 ขาหลัก ได้แก่ เก็บภาษีตามปริมาณ และเก็บภาษีตามมูลค่า ซึ่งแน่นอนว่าปัจจุบันเบียร์เสียภาษีอยู่ที่ 22% เมื่อคิดจากฐานราคาขายต่อขวดต่อกระป๋อง ขณะที่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่นมีอัตราภาษีอยู่ที่ 14%, สุราขาว 2% และเครื่องดื่ม Ready to Drink(RTD) มีอัตราตํ่ากว่า 14% ซึ่งจากโครง สร้างดังกล่าวจึงเกิดเป็นคำถามขึ้นว่า ในส่วนของการเก็บภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จะมีวิธีคิดแบบใด ซึ่งในกลุ่มเบียร์ 0% ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ และจาก ความต่างของโครงสร้างภาษีนี้อาจจะทำให้เกิดเซ็กเมนต์ใหม่ๆในตลาดแอลกอฮอล์ขึ้นมาอีกก็ได้ ซึ่งตรงนี้ก็อยากให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วยในแง่ของการจัดเก็บ ซึ่งในกลุ่มเบียร์ 0% นั้นไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ผสมอยู่ ดังนั้นขาที่เก็บปริมาณภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์จะมีการจัดเก็บเช่นไร ซึ่งหากจัดเก็บเทียบเท่าเบียร์ธรรมดาก็มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรม จึงอยากขอความชัดเจนในส่วนนี้ด้วย”
แน่นอนว่ามาตรการจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% แม้จะสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมได้มากพอสมควร แต่ทว่าขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด เบื้องต้นแหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แจ้งความคืบหน้ากับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายในสัปดาห์นี้ทางสมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ผู้ประกอบการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และภาครัฐจะมีการร่วมตกลงและเจรจาความคืบหน้าเกี่ยวกับความชัดเจนของข้อกฎหมาย ก่อนจะยื่นต่อรัฐมนตรีคลังและมีผลบังคับใช้ในอนาคต
TAP จ่อนำเข้าเครื่องดื่มดีกรีตํ่าเพิ่ม
ด้านแหล่งข่าวจากแบรนด์ “ไฮเนเก้น” หรือกลุ่มบริษัททีเอพีฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทยินดีปฏิบัติตามข้อกฎหมายทุกอย่าง หากมีการประกาศการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มมอลต์สกัด 0% แต่ทว่าบริษัทก็จำเป็นจะต้องมีการมองหาเครื่องดื่มหมวดใหม่ที่มีการจัดเก็บอัตราภาษีน้อยกว่าเข้ามาทำตลาดแทน โดยเฉพาะในกลุ่ม RTD ที่มีแอลกอฮอล์ตํ่า 2% ทั้งในกลุ่มไวน์คูลเลอร์ และไซเดอร์ เข้ามาทำตลาดในไทย โดยมีความเป็นไปได้ทั้งการเลือกจากพอร์ตเดิมในบริษัทแม่ที่มีอยู่ หรือการพัฒนาขึ้นมาใหม่
“ที่ผ่านมาการเปิดตัวเครื่องดื่มมอลต์สกัด 0% ของเราในไทยต้องการตอบรับนโยบายขององค์การอนามัยโลกในการรณรงค์การดื่มแอลกอฮอล์อย่างรับผิดชอบและรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งหากมีมาตรการจัดเก็บภาษีเบียร์ 0% ออกมาเราก็พร้อมจะปฏิบัติตามข้อกฎหมายแต่ขณะเดียวกันก็ต้องมองว่าสินค้าอื่นๆ ในกลุ่มแอลกอฮอล์ตํ่า เข้ามาด้วย”
TABBA ชี้เบียร์ 0% แค่เทรนด์โลก
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA เคยแสดงความ เห็นในเรื่องภาษีในกลุ่มเครื่องดื่มเบียร์ 0% ว่า เครื่องดื่มแอล กอฮอล์ 0% ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนักดื่มหน้าใหม่ แต่เป็นการช่วยลดปัญหาหลายๆ เรื่องมากกว่า อาทิ ด้านสุขภาพ ตลอดจนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ขององค์การอนามัยโลก ในการที่จะลดปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเมาแล้วขับ ซึ่งในส่วนของต่างประเทศเองมีทั้ง ไซเดอร์ ไวน์ ไวน์คูลเลอร์ รัม ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เป็น 0%
หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3482 ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายน 2562