ค้าชายแดนระนองเข้าเมียนมา 5 เดือนแรกปีนี้ฟุบต่อเนื่องเข้าเดือนที่ 2 เหตุกำลังซื้อซบจากเศรษฐกิจโลก แถมเจอด่านสิงขรเป็นคู่แข่งเพิ่ม ประธานหอฯระนองชี้ไตรมาส 3 วังเวงเหตุเมียนมาปิดอ่าวสินค้าประมงลดวูบ
นางวนิดา อรุโณทัย พาณิชย์จังหวัดระนอง เปิดเผยถึงสถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดระนอง-เกาะสอง ประจำเดือนพฤษภาคม 2562 พบว่ามูลค่าการค้ารวมเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 4.34% นับเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยมูลค่าการค้าเดือนเมษายนลดลงจากเดือนก่อนหน้าถึง 25.92% จากที่มีการเติบโตเป็นบวกมาตลอด
ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนเดือนพฤษภาคมรวมทั้งสิ้น 2,170.71 ล้านบาท ลดลงจาก 2,269.23 ล้านบาทของเดือนเมษายน จำนวน 98.52 ล้านบาท คิดเป็น 4.34% และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 76.76 ล้านบาท คิดเป็น 3.67% (พฤษภาคม 2561 มีมูลค่าการค้ารวม 2,093.95 ล้านบาท
เมื่อแยกเป็นการส่งออก ในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าทั้งสิ้น 1,285.69 ล้านบาท ลดลงจาก 1,395.77 ล้านบาทในเดือนก่อนหน้า จำนวน 110.08 ล้านบาท คิดเป็น 7.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่า 1,450.08 ล้านบาท ลดลง 164.39 ล้านบาท คิดเป็น 11.34% โดยสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ นํ้ามันเครื่อง นํ้ามันหล่อลื่น จาระบี นํ้ามันเกียร์ นํ้ามันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ปูนซีเมนต์ ท่อเหล็กใช้ในการขุดเจาะปิโตรเลียม อุปกรณ์เหล็กหรือเหล็กกล้า
ด้านการนำเข้าขยายตัวโดยในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าทั้งสิ้น 885.02 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีมูลค่า 83.46 ล้านบาท เป็นจำนวน 11.56 ล้านบาท หรือเติบโต 1.32% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 643.87 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 241.15 ล้านบาท มีอัตราเติบโตถึง 37.45% สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ปลาทะเลสดหรือแช่เย็น ปลาป่น ท่อเหล็กใช้ในการขุดเจาะปิโตรเลียม ปลาหมึกทั้งตัวแช่เย็น เป็นต้น
นางวนิดากล่าวต่อว่า เมื่อดูภาพรวมสถานการณ์การค้าไทย-เมียนมา ด้าน จ.ระนอง ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันรวม 5 เดือน พบว่าสถานการณ์การค้าชายแดนยังคงชะลอตัว เป็นผลจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของช่องทางการค้าอื่นๆ ตามแนวชายแดน
ด้านนายธีระพล ชลิศราพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง และนักธุรกิจค้าชายแดนรายใหญ่ด้านระนอง-เกาะสอง กล่าวว่า การค้าชายแดนไทย- เมียนมา ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2562 ถึงขณะนี้ยังคงอยู่ในภาวะซบเซาไม่คึกคัก โดยเฉพาะในส่วนของด่านชายแดนระนอง ที่ยอดการค้าลดลงเนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของเมียนมาที่ชะลอลง จากที่ประสบปัญหาสภาะเศรษฐกิจเช่นเดียวกับไทย จึงทำให้ในช่วงที่ผ่านมา ยอดการค้าขายลดลง
นอกจากนี้ประเด็นเรื่องช่องทางการค้าขายใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้นตามแนวชายแดน อาทิ ช่องทางด่านสิงขร จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถือว่ามีผลกระทบโดยตรงต่อด่านชายแดนด้าน จ.ระนอง เนื่องจากพบว่าขณะนี้พ่อค้าชายแดนไทย-เมียนมา ที่เคยส่งสินค้าผ่านด่านจ.ระนอง หันไปเปลี่ยนเส้นทางส่งผ่านด่านสิงขรแทน
ส่วนแนวโน้มช่วงไตรมาส 3 (กรกฎาคม-กันยายน) คาดว่าการค้าชายแดนจะซบเซาและลดลงมากกว่าช่วงที่ผ่านมาอีก เนื่องจากมีปัจจัยด้านสภาวะอากาศ และการประกาศปิดอ่าวของเมียนมา 3 เดือนช่วงมิถุนายน -สิงหาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ยอดการค้าขายนำเข้า ส่งออก ทั้ง 2 ฝ่ายลดลงแน่นอน ทั้งสินค้าที่เป็นอุปกรณ์เครื่องมือประมง สัตว์นํ้า รวมทั้งสินค้าอุปโภค-บริโภค
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,483 วันที่ 30 มิถุนายน - 3 กรกฎาคม 2562