นำเข้า “หมึก-ปลานอก” ทะลัก ขายแข่งสินค้าในประเทศกว่า 8 แสนตัน ดัมพ์ราคาตํ่ากว่า 30% เจาะโมเดิร์นเทรด-ร้านหมูกระทะ สมาคมประมงเตรียมชงรัฐบาลใหม่เพิ่มความเข้มด้านสุขอนามัย พร้อมจำกัดท่าเทียบเรือนำเข้าเลียนโมเดลมะพร้าวก่อนเจ๊งถ้วนหน้า
ปัจจุบันไทยปลดใบเหลืองเป็นใบเขียวจากสหภาพยุโรป (อียู) แล้ว ทำให้ภาพลักษณ์ประมงไทยในสายตาชาวโลกสดใส สัญญาณการส่งออกคาดจะดีขึ้นด้วย แต่ปัญหาของผู้ประกอบการกับภาครัฐกลับสวนทางกัน โดยเฉพาะปัญหาสัตวนํ้าในประเทศราคาตกตํ่า จากผู้ประกอบการแปรรูปสินค้าประมงมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศเข้ามาจำนวนมาก จากผลพวงการจัดระเบียบไอยูยูของรัฐบาลส่งผลให้วัตถุดิบขาดแคลนซึ่งภาคประมงเตรียมนำเสนอข้อมูลและทางออกต่อรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ โดยไม่ผิดกฎกติขององค์การการค้าโลก (WTO)
แหล่งข่าวจากสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในแต่ละปีไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบสินค้าประมงประมาณ 2 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นทูน่า 8 แสนตัน (เพื่อแปรรูปส่งออก) ที่เหลืออีก 1.2 ล้านตันเป็นปลา ปลาหมึก และสัตว์นํ้าอื่นๆ โดยจะใช้แปรรูปส่งออกประมาณ 4 แสนตัน และขายในประเทศ 8 แสนตัน (ก่อนเกิดปัญหาไอยูยูมีการนำเข้ามาเพื่อบริโภคในประเทศในปี 2557 ประมาณ 7 แสนตัน) แต่หลังจากปี 2558 ที่ไทยได้ใบเหลืองการจับปลาของชาวประมงลดลงจากมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาล โรงงานแปรรูปได้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น จากราคาสัตว์นํ้าในประเทศขาดแคลนและราคาสูง
“สินค้าที่นำเข้ามาเป็นสินค้าแช่แข็ง 80% ของสด 20% ส่วนใหญ่มาจากประเทศกลุ่ม CLMV เพราะฉะนั้นสินค้าแช่แข็ง ควรจะจำกัดท่าเทียบเรือที่ขึ้นสินค้าแบบเดียวกับมะพร้าวไม่ใช่เข้าได้ทุกท่าเรือ และควรเพิ่มมาตรการเข้มข้นจะทำให้นำเข้าลดลงแน่นอน และถ้าจำกัดตรงนี้ได้ก็จะช่วยป้องกันการสวมสิทธิ์ สวมปลา สวมใบรับรองการซื้อขายของสินค้ารอบนั้นได้ เพราะที่ผ่านมาเข้าใจว่ามีการสวมสิทธิ์นำเข้ามากันเยอะมากจึงทำให้สินค้าล้นตลาดประมาณ 1.3 ล้านตันโดยการนำเข้าในปีนี้คาดจะเพิ่มจากปีที่แล้วประมาณ 2 แสนตัน”
ยกตัวอย่าง ปลาหมึกที่ขายตามตลาดนัด หรือหมูย่างเกาหลี นำเข้ามาจากเปรูและอาร์เจนตินา กลุ่มแถบอเมริกากลาง กับกลุ่มอเมริกาใต้ ตอนเหนือ สัดส่วน 15-20% ของการนำเข้า เป็นกลุ่มตลาดล่าง โดยปลาหมึกขนาด 5 นิ้ว กิโลกรัมละ 70 บาท แต่หากเป็นหมึกไทยจะกิโลกรัมละ 200 บาท จะเป็นเกรดพรีเมียมที่เข้าร้านอาหารทั่วไป ส่วนปลาหมึกที่เข้ามาและตีตลาดหนักมากคือ หมึกอินเดีย เยเมน จะนำเข้าประมาณ 20% ของปริมาณสัตว์นํ้าทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่ในตลาดเดียวกับสินค้าไทย ที่ส่งตามโมเดิร์นเทรด และร้านค้าทั่วไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า จากผลกระทบดังกล่าวได้สร้างปัญหาทำให้ราคาปลาในประเทศตกตํ่า ดังนั้นต้องไปออกมาตรการควบคุมการนำเข้าให้ได้ เช่น การใช้มาตรการสุขอนามัยลดระดับสารปนเปื้อนลงมาให้ตํ่า อาทิ 0.05 กรัม เหลือ 0.02 กรัมได้หรือไม่ เนื่องจากตามกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ไทยไปผูกพันไว้ไม่สามารถไปแตะเรื่องโควตานำเข้าสินค้าเกษตรได้
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สินค้าที่เข้ามามีกำไรมหาศาลและเข้ามาแย่งโอกาสของชาวประมงไป เนื่องจากสินค้าที่เข้ามาราคาตํ่ากว่า 30% จากไม่มีต้นทุนในการทำไอยูยูแบบไทย โดยผลจากการประชุมในวันที่ 28 มิถุนายนนี้จะนำข้อสรุปและข้อเสนอทางออกต่อรัฐบาลใหม่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาของชาวประมงให้พ้นวิกฤติต่อไป
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3483 วันที่ 30 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2562