โคราชบุก‘ICDลาดกระบัง’ ถอดบทเรียน 24 ปีปั้นท่าเรือบก

27 ก.ค. 2562 | 03:00 น.

 

รายงาน : โดย ฉัตรสุรางค์ กองภา

ผู้ว่าฯโคราช นำทีมบุก ICD ลาดกระบัง ศึกษาตัวแบบพร้อมทาบเอกชนร่วมทุนเดินหน้าดันท่าเรือบกโคราช ชงคมนาคมตั้งงบ 38 ล้านบาท จ้างที่ปรึกษาศึกษาจัดทำร่างทีโออาร์เสร็จใน 1 ปี ก่อนเปิดรับเอกชนเข้าร่วมทุนเพื่อก่อสร้างให้ทันเปิดใช้งานปี 2568 รับแผนไฮสปีดไทย-จีน

โคราชบุก‘ICDลาดกระบัง’ ถอดบทเรียน 24 ปีปั้นท่าเรือบก

นครราชสีมาผลักดันเต็มที่โครงการ หลังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนช.) สรุปผลการศึกษาจัดทำแผนแม่บทพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ฉบับสมบูรณ์ และเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) เพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาอนุมัติ มีพื้นที่เหมาะสม 4 แห่ง คือ ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น และนครสวรรค์ วงเงินลงทุน 27,490 ล้านบาท โดยในจังหวัดนครราชสีมากำหนดที่ตั้งที่ตำบลกุดจิก อำเภอสูงเนิน เนื้อที่ 1,800 ไร่ วงเงิน 7,740 ล้านบาท ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2565 เปิดให้บริการปี 2568 คาดมีปริมาณสินค้า 287,400 TEUs

โคราชบุก‘ICDลาดกระบัง’ ถอดบทเรียน 24 ปีปั้นท่าเรือบก

ล่าสุดนายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าฯนครราชสีมา นำคณะผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมตัวแทนองค์กรภาคเอกชนของนครราชสีมา เดินทางไปศึกษาดูงานการพัฒนาท่าเรือบกที่ ICD ลาดกระบัง ซึ่งประสบผลสำเร็จมาแล้วกว่า 24 ปี เพื่อเรียนรู้และนำไปพัฒนาการจัดสร้าง Dry Port หรือท่าเรือบก ที่จังหวัดนครราชสีมา พร้อมร่วมหารือกับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ 6 บริษัท

โคราชบุก‘ICDลาดกระบัง’ ถอดบทเรียน 24 ปีปั้นท่าเรือบก

นายณัฐพล มีเศรษฐี ตัวแทนบริษัทสายเดินเรือ โอ เชียน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส กล่าวว่า โคราชมีศักยภาพสูงในทุกด้าน แต่ยังบอกไม่ได้ว่าโครงการท่าเรือบกโคราชจะเกิดได้จริงหรือไม่ เพราะได้รับฟังแค่ข้อมูลยังต้องไปดูสภาพพื้นที่จริง ไปเห็นลูกค้า เห็นปัจจัยแวดล้อมทุกอย่างให้ครบถ้วนก่อน จึงจะพอประเมินได้ แต่มีข้อสังเกตที่โคราชควรศึกษาเพิ่มเติมคือ ความสมดุลของสินค้านำเข้าและส่งออก เพราะถ้าให้สายเดินเรือลากตู้คอนเทนเนอร์จากท่าเรือแหลมฉบังมาโคราชเพื่อบรรจุสินค้าส่งออกขาเดียว จะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ธุรกิจสายเดินเรือจะมองเรื่องของต้นทุนเป็นหลัก ถ้าบริหารจัดการให้ถูกกว่ากันได้ 100-200 บาทก็มีผลแล้ว

ส่วนเรื่องการร่วมลงทุนในโครงการท่าเรือบกนั้นต้องศึกษาให้รอบคอบครบถ้วนทุกด้านก่อน หากทำแล้วรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายจะเป็นปัญหาได้ รวมทั้งโอเชียน เน็ตเวิร์ค เป็นบริษัทที่ลงทุนข้ามชาติ กานรตัดสินใจทุกอย่างต้องผ่านความเห็นชอบจากบริษัทแม่ทั้งหมด แต่ก็พร้อมร่วมศึกษา เพราะโครงการกำลังจะเปิดใหม่ และหากเราเข้าร่วมจะเป็นเหมือนการเปิดสายตาเราสู่โลกภายนอกว่าที่อื่นทำอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้จะเกิดประโยชน์ทุกที่ อะไรที่มีสินค้า เราลงไปแล้วได้สินค้า เราทำหมด

 

ทั้งนี้ บริษัทสายเดินเรือ โอเชียน เน็ตเวิร์ค เอ็กซ์เพรส เกิดจากสายเดินเรือญี่ปุ่น 3 บริษัทมารวมกัน คือ กลุ่มสายการเดินเรือ Kawasaki Kisen Kaisha (“K” Line), Mitsui O.S.K. Lines (MOL) และ Nippon Yusen Kabushiki Kaisha (NYK) เพื่อให้มีขนาดใหญ่ หวังชิงสายเดินเรือที่ 1 ของโลกจาก Maersk Line ซึ่งปีที่ผ่านมาโตกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านทีอียู ส่วนปีนี้เป้า 1.5 ล้านทีอียู ท้าทายมาก จากปัจจัยลบหลายด้านทั้งเศรษฐกิจโลก ค่าเงิน การส่งออกโตชะลอ ซึ่งต้องคิดกลยุทธ์มาแก้ไข

ผู้ว่าฯนครราชสีมา กล่าวว่า ผู้ประกอบการได้ให้คำแนะนำที่สำคัญหลายเรื่อง การจะเลือกขนส่งทางถนนหรือรางอยู่ที่ต้นทุนว่าวิธีไหนถูกสุด จากเดิมในการศึกษา เป็นการขนตู้คอนเทนเนอร์เปล่าไปบรรจุสินค้าที่ท่าเรือบกโคราช เพื่อขนสินค้ามาส่งท่าเรือ จึงให้ข้อเสนอว่าตู้คอนเทนเนอร์ขาเข้าควรมีจำนวนมาก หากสามารถรวบรวมตู้คอนเทนเนอร์ที่จะไปนครราชสีมาโดยรถไฟ เมื่อไปถึงแล้วสับเปลี่ยนเป็นตู้สินค้าขนกลับทางรถไฟไปส่งที่ท่าเรือ ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายตรงนี้ถูกลง

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการท่าเรือบกของจังหวัดนครราชสีมา อันดับแรกคือการเขียนร่างข้อเสนอ (Term of Reference-TOR) ซึ่งได้เสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตั้งงบประมาณจ้างศึกษาและร่างทีโออาร์ให้แล้วเสร็จ วงเงิน 38 ล้านบาท คาดจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ดังนั้นในปลายปี 2563 จะสามารถเสนอร่างทีโออาร์ให้กระทรวงคมนาคมและมหาดไทย พิจารณาเห็นชอบ ใช้เวลาอีกประมาณครึ่งปี จากนั้นจะเริ่มขั้นตอนการหาผู้ร่วมทุนเพื่อเริ่มก่อสร้างอีกประมาณ 2 ปี คาดว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างได้ในกลางปี 2565 และควรเปิดท่าเรือบกโคราชได้ในปี 2568 เพื่อให้สอดคล้องกับแผนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ส่วนเอกชนที่ติดต่อให้เข้ามาร่วมทุนนอกจากเอกชนภายนอกแล้ว ทางจังหวัดยังได้เชิญชวนกลุ่มทุนท้องถิ่นเช่น บริษัท P.C.S. จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.โคกกรวด ด้วย

ด้านนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ท่าเรือบกโคราชที่กุดจิกมีความเหมาะสม มีโครงข่ายคมนาคมขนส่งสมบูรณ์ทั้งถนน ทางรถไฟ ไม่ต้องสร้างใหม่ มีกลุ่มผู้ประกอบการในย่านอุตสาหกรรมนวนคร ในพื้นที่ผังเมืองโซนสีม่วงหรือเขตอุตสาหกรรมอยู่แล้ว โดยสินค้าหลักจากนครราชสีมาที่จะใช้ขนส่งทางตู้คอนเทนเนอร์คือ ผลผลิตการเกษตร เช่น มันสำปะหลัง ซึ่งโคราชมีพื้นที่ปลูกมากสุด 1.4 ล้านไร่ มีสัดส่วนการผลิตถึง 30% โดยพื้นที่อีสานใต้เป็นเขตปลูกมันสำปะหลังใหญ่ที่สุด พร้อมมาใช้บริการส่งออกผ่านท่าเรือบกโคราชแห่งนี้ 

 

ล้อมกรอบ

ท่าเรือบกโคราช จะเป็นศูนย์ท่าเรือบกขนาดกลาง มีปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ 200,000 ตู้ต่อปีขึ้นไป บนเนื้อที่ 1,800 ไร่ โดยมีค่าดำเนินการดังนี้ ค่าชดเชยที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง 3,140 ล้านบาท ค่าปรับสภาพดิน 740 ล้านบาท ค่าออกแบบรายละเอียด 70 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 2,160 ล้านบาท ค่าอุปกรณ์ 800 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายตามมาตรการสิ่งแวดล้อม 20 ล้านบาท และค่าควบคุม งานก่อสร้าง 70 ล้านบาท รวม 7,000 ล้านบาท (ต้นทุนราคาปี 2561) ค่าดำเนินการและบำรุงรักษา ต่อปี 62 ล้านบาท โดยมีเวลาออกแบบก่อสร้างและติดตั้งระบบ ตั้งแต่ปี 2565-2567 ก่อนจะเปิดใช้ได้จริงปี 2568

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,490 วันที่ 25 - 27 กรกฎาคม 2562

โคราชบุก‘ICDลาดกระบัง’ ถอดบทเรียน 24 ปีปั้นท่าเรือบก