กรมทรัพย์สินทางปัญญาจัดสัมมนาแนะนำโอกาสในการเข้าถึงงานลิขสิทธิ์สำหรับคนพิการ หลังมีการปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับคนพิการ และเข้าร่วมภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคช เผยจะช่วยให้คนพิการทางสายตาที่มีอยู่กว่า 2 แสนคน เข้าถึงงานลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิด สามารถนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง ทำอักษรเบรลล์ หนังสือเสียงได้
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้จัดสัมมนา โอกาสในการเข้าถึงงานลิขสิทธิ์สำหรับคนพิการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาครัฐและภาคเอกชน เจ้าของสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นักวิชาการ และนักเขียนผู้พิการทางสายตาที่มาแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ร่วมกัน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2561 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การใช้ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการ พ.ศ.2562 และคู่มือการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการ
ทั้งนี้ การจัดงานดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนพิการที่มีความบกพร่องทางการเห็น ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่ามีประมาณ 204,000 คน คิดเป็น 10% ของคนพิการทั่วประเทศ ซึ่งกรมฯ ได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย และออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลสิทธิ์ของผู้พิการทางสายตา รวมทั้งไทยยังได้เข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคช ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับคนพิการทางสายตาในไทยได้เข้าถึงงานลิขสิทธิ์ สามารถนำไปทำซ้ำ ดัดแปลง ทำอักษรเบรลล์ หนังสือเสียงได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
“กรมฯ ให้ความสำคัญกับคนพิการ และมีการผลักดันให้คนพิการทางสายตาเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการแก้ไขกฎหมาย และเข้าร่วมภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคช ซึ่งทำให้ในปัจจุบัน คนพิการทางสายตาสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ โดยที่ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อคนพิการ และทำให้ทุกคนเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้อย่างเท่าเทียมกัน”นายทศพลกล่าว
สำหรับการจัดสัมมนาในครั้งนี้ กรมฯ ยังได้เชิญดร.นันทนุช สุวรรนาวุธ นักวิชาการ ผู้แทนสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ กระทรวงศึกษาธิการ มาให้มุมมองเกี่ยวกับประโยชน์ของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญามาร์ราเคช , เจ้าของเพจNarissa Journal การเดินทางของความสุขและผู้พิการทางสายตาที่มีความรู้ความสามารถในด้านการจัดทำสื่อการเรียนการสอนสำหรับคนพิการ และครูไอซ์ อาจารย์สอนภาษาอังกฤษผู้พิการทางสายตา และนักเขียนเจ้าของผลงาน จนว่า/เด็กปิดตา/จะโต ซึ่งเป็นผู้พิการทางสายตา มาให้แนวคิดด้วย โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนากว่า 100 คน