กรมการค้าภายใน ทำแผนเชิงรุกเร่งกระจายผลไม้ใต้ มังคุด-ลองกองออกสู่ตลาด มั่นใจจะสามารถดึงราคารับซื้อมังคุดได้ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 20-40 บาท พร้อมสนับสนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการส่งออก3 % กระจายผลไม้ออกต่างประเทศ
นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลังประชุมวีดีโอคอนเฟอเรนร่วมกับพาณิชย์จังหวัด ห้างสรรพสินค้า และผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน เพื่อร่วมจัดทำแผนรับมือผลไม้โดยเฉพาะมังคุดและลองกองที่ปีนี้คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าผลผลิตทุเรียน เงาะ มังคุด และลองกอง ปีนี้จะมีประมาณ 648,088 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 34% สำหรับมังคุดคาดว่าปีนี้ผลผลิตจะเพิ่มจาก 1.1 แสนตันเป็น 1.5 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 30% และลองกองจาก 4 หมื่นตันเป็น 7 หมื่นตัน หรือเพิ่ม 40% โดยราคามังคุดส่งออกเกรดเอ ขณะนี้ราคา เฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 40 บาท ขณะที่ราคามังคุดคละยังมีราคาต่ำโดยอยู่ที่กิโลกรัมละ 13-15 บาท ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของผลผลิต ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กำชับ กรมการค้าภายใน จึงดำเนินมาตรการหาช่องทางการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตผลไม้ที่มีปริมาณเพิ่ม เพื่อดึงราคาที่เกษตรกรจะได้รับให้สูงขึ้นโดยการเชื่อมโยงและกระจายผลไม้ ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น ร้านธงฟ้าประชารัฐ ตลาดกลาง ตลาดต้องชม และห้างสรรพสินค้าได้ลงนามสัญญาข้อตกลงซื้อผลไม้จากเกษตรกรแล้ว จำนวน 7,864 ตัน รวมถึงขอความร่วมมือสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น ปตท. บางจาก และพีที ช่วยรับซื้อมังคุดเบื้องต้นตกลงรับซื้อแล้ว 500 ตันในเดือนกรกฎาคม และจะเพิ่มเป็น 1 พันตันในสิงหาคม ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่าจากมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการจะช่วยดึงให้ราคามังคุดคละปรับตัวสูงขึ้นกิโลกรัมละ 20 บาท และมังคุดเกรด A-B กิโลกรัมละ 40 บาท
ส่วนตลาดต่างประเทศ จะเร่งรัดผลักดันการส่งออกให้ได้เพิ่มขึ้น โดยกรมฯจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออก หรือ ล้งไทย ที่ไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อนำมาใช้รับซื้อผลไม้จากเกษตรกรไปส่งออก โดยตั้งเป้าวงเงินกู้ประมาณ 1,000 ล้านบาท และจะใช้เงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 เป็นระยะเวลา 6 เดือน ภายใต้เงื่อนไข คือ ผู้ประกอบการจะต้องมีคำสั่งซื้อสินค้า และมีหลักฐานการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยคาดว่าจะใช้เงินอุดหนุนไม่เกิน 15 ล้านบาท เพื่อผลักดันการส่งออกให้ได้วันละ 1,000 ตัน หรือเดือนละ 30,000 ตัน และในวันพรุ่งนี้ (26 ก.ค.) จะมีการหารือร่วมกับสายการบิน สำหรับเที่ยวบินในภาคใต้ เช่น สนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ หาดใหญ่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และกระบี่ เพื่อขอความร่วมมือผู้โดยสารสามารถโหลดผลไม้ได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและขอเพิ่มน้ำหนักจากเดิม 10 กิโลกรัม เป็น 20-30 กิโลกรัม