รายงาน : โดย อัศวิน พินิจวงศ์
20 ส.ส.เข้าชื่อยื่นหนังสือ “ประธานชวน” ขอตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการจัดตั้งอปท.รูปแบบพิเศษ ในพื้นที่เมืองใหญ่มีศักยภาพ หรือลักษณะเฉพาะ เล็งนครแม่สอด เกาะสมุย-ภูเก็ต แหลมฉบัง เชียงใหม่
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ผ่านไปแล้วเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ถัดไปจะเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่างๆ ทั้งอบต. อบจ. เทศบาลรูปแบบต่างๆ ตลอดจนสมาชิกสภาและผู้บริหารเมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายปีนี้แล้ว ความเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้จัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ สำหรับพื้นที่ที่ศักยภาพหรือลักษณะพิเศษเป็นการจำเพาะก็กลับมาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีส.ส. จากหลายพรรคการเมืองรวม 20 คน รวมทั้งส.ส.จากจังหวัดตาก ได้ร่วมลงชื่อในหนังสือเสนอนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เพื่อเสนอญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ในพื้นที่ที่มีศักยภาพและความสำคัญ มีเนื้อหาระบุว่า
ด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่มีรูปแบบการบริหารแตกต่างจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีอยู่เดิม โดยมีลักษณะทางกายภาพหรือองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เป็นลักษณะเฉพาะของท้องถิ่นนั้นๆ แตกต่างจากอปท.ทั่วไป เช่น เป็นส่วนท้องถิ่นที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก มีประชากรอยู่หนาแน่น มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง หรือเป็นท้องถิ่นที่มีปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ครอบคลุมพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ซึ่งในปัจจุบันอปท.รูปแบบพิเศษ 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา จึงเสนอตั้งคณะกรรมาธิการ เพื่อพิจารณาศึกษาให้เกิดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพิ่มเติมอีก 7-8 แห่ง ตามศักยภาพและความเปลี่ยน แปลงของเมืองที่เจริญมากขึ้น
ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันการจัดตั้งเป็นอปท.รูปแบบพิเศษต่อเนื่องมาเป็นระยะ เช่น เทศบาลเมืองเกาะสมุยในปี 2543 สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งในปี 2551 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนารูปแบบการให้บริการและสถานะ ในลักษณะเครือข่ายกลุ่มพื้นที่ และรูปแบบการจัดตั้งองค์กรการบริหารจัดการในพื้นที่พิเศษ ซึ่งก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ
เมื่อพิจารณาจากความเจริญทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในยุคปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการอปท.รูปแบบพิเศษแบบเดิมนั้น ในบางพื้นที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและรองรับความเปลี่ยน แปลงดังกล่าวได้ ส่งผลทำให้การบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพเนื่องจากติดขัดในข้อกฎหมายและระเบียบบางประการ รวมทั้งเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเป็นรากฐานของการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนารากฐานของประชาธิปไตยของประเทศ ควรให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งอปท.รูปแบบพิเศษ ในเขตพื้นที่ที่มีความสำคัญตามหลักและแนวคิดที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการบริหารการจัดการตนเองของท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการรองรับการเปลี่ยน แปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับเทศบาลนครแม่สอด อปท.ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก(แม่สอด) ถือเป็นอปท.สำคัญ อันดับต้นๆ ที่ ส.ส. จะผลักดันให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ เพื่อรองรับการเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ซึ่งมีเป้าหมายเป็นประตูหน้าด่านการค้าชายแดนทางตะวันตก ตามนโยบายการเชื่อมโยงในประชาคมอาเซียน ASEAN Economic Community (AEC) บนเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC) ที่เรียกกันว่าเส้นทางหมายเลข 9 (อาร์9) เชื่อมมหาสมุทรอินเดียในเมียนมา ผ่านไทยที่แม่สอด-มุกดาหาร เข้าสปป.ลาว ไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิกในเวียดนาม
ล้อมกรอบ
3 มิติ‘แผนปฏิรูปท้องถิ่น
การผลักดันการกระจาย อำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นไปอย่างคึกคักหลังรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่บัญญัติสนับสนุนหลักการนี้ไว้ กว่า 20 จังหวัดเคลื่อนไหวสู่เป้าหมาย “จังหวัดจัดการตนเอง” เรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรง และจัดทำร่างพ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการจังหวัด....ขึ้นมา แต่หลังการรัฐประหาร ปี 2549 และ 2557 กระแสเรื่องนี้ซบเซาลง ในแผนปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ประเทศ (สปท.) รายงานข้อเสนอ 3 กรณีคือ
1.ปฏิรูปโครงสร้างอปท.รูปแบบทั่วไปใหม่ ให้เหลือเพียงองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และเทศบาล โดยยกฐานะหรือควบรวมอบต.เป็นเทศบาล
2.แก้ไขปรับปรุงโครงสร้างอปท.รูปแบบพิเศษ 2 แห่งที่มี คือ กรุงเทพมหานคร ยกเลิกส.ข. เปลี่ยนเป็นประชาคมเขต ตั้งคณะกรรมการยุทธ ศาสตร์แก้ไขปัญหาเมืองหลวงและปริมณฑล ส่วนเมืองพัทยาแก้กฎหมายเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาเมืองพัทยาและท้องถิ่นโดยรอบ และคณะกรรมการประชาคมเมือง
3.อปท.ในพื้นที่หรือเมืองลักษณะเฉพาะ อาจจัดตั้งเป็นอปท.รูปแบบพิเศษเป็นกลุ่มเมืองขนาดใหญ่ หรือเมืองที่มีภารกิจพิเศษ ซึ่งต้องการอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น กลุ่มเมืองการค้าชายแดน กลุ่มเมืองท่องเที่ยว กลุ่มเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม กลุ่มเมืองอุตสาหกรรมและ โลจิสติกส์ พื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิและโดยรอบ กลุ่มเมืองเศรษฐกิจระดับสูงที่มีศักยภาพเป็นมหานคร ทั้งนี้ หลังปรับปรุงกฎหมายอปท.รูปแบบทั่วไปแล้ว ควรศึกษาอปท.รูปแบบพิเศษที่สมควรจัดตั้งเพิ่มในพื้นที่ใดหรือไม่อีกครั้ง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,493 วันที่ 4 - 7 สิงหาคม 2562