จากนโยบายที่รัฐบาลต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางมารีน่าในภูมิภาคเอเชีย นั่นหมายถึงการผลักดันให้เรือยอชต์จากต่างประเทศเดินทางเข้าในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อปลายปี 2559 แม้ภาครัฐ จะมีการแก้ไข และผ่อนปรนกฎเกณฑ์ในบางเรื่องไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้เรือซูเปอร์ยอชต์ (เรือขนาด 30 เมตรขึ้นไป) ของต่างชาติสามารถนำเรือที่เข้ามาเทียบท่าในไทย มาทำธุรกิจเช่าเหมาลำ
รวมถึงการอนุญาตให้เรือต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเที่ยวพัทยา สามารถอยู่ได้ 6 เดือน + 6 เดือน ซึ่งเป็นระยะเวลาในการตรวจคนเข้าเมืองเหมือนที่เรือยอชต์ที่เข้าภูเก็ต จากเดิมที่อนุญาตให้อยู่ได้เพียง 1-2 เดือน แต่ก็ยัง มีอีกหลายเรื่องที่ภาคเอกชนที่ครํ่าหวอดในธุรกิจมารีน่า มองว่ายังมีข้อติดขัดอยู่ และจะทำอย่างไรที่จะส่งเสริมการเติบโตด้านยอชต์ ทัวริซึมให้ได้มากกว่านี้
อ่าวไทยจุดขายใหม่เรือยอชต์
นายสก็อต ฟินสเตน ผู้จัดการท่าเรือ โอเชี่ยน มารีน่า ยอช์ต คลับ เผยว่า ที่ผ่านมาไทยมีเรือยอชต์จากต่างประเทศมาเทียบท่ากว่า 2.5-3 พันลำต่อปี แต่พบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ภูเก็ตและอันดามันมากถึง 95% มีเพียง 5% ที่เข้ามายังอ่าวไทยและเทียบท่าอยู่ที่พัทยา
นายสก็อต ฟินสเตน
จุดสำคัญเป็นเพราะทะเลอันดามันและภูเก็ตเป็นที่รู้จักของนักเล่นเรือยอชต์มากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาทางโอเชี่ยน มารีน่า พัทยา ก็มีการจัดโบ๊ท โชว์ ซึ่งเป็นงานโชว์เรือยอชต์นานาชาติระดับเอเชีย ปีนี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 พฤศจิกายนนี้ เป็นปีที่ 8 ของการจัดงาน ที่การจัดงานในแต่ละปีทำรายได้ราว 2 พันล้านบาท ทั้งการขายเรือ ซ่อมบำรุงเรือ ชาร์เตอร์เรือยอชต์ โดยการจัดงานมีผู้เข้าชมงานเติบโตทุกปี เฉลี่ยราว 6 พันคนทั้งคนไทยและต่างชาติ ซึ่งเราก็พอใจระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มองว่า การล่องเรือในภาคตะวันออกมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก
เนื่องจากอ่าวไทยยังเป็นเดสติเนชันใหม่สำหรับนักแล่นเรือยอชต์ ทั้งๆ ที่มีมากถึง 187 เกาะ อย่าง เกาะกูด เกาะหมาก เกาะทะลุ เกาะช้าง เกาะแถวๆสามร้อยยอด เกาะสมุย ดังนั้นภาครัฐควรจะเพิ่มการโปรโมตให้มากขึ้น เพื่อผลักดัน พัทยา ตราด เกาะสมุย ให้เป็นเวิลด์คลาสเดส ติเนชันสำหรับการแล่นเรือยอชต์
แก้กม.หนุนท่องเที่ยวทางเรือ
ทั้งในแง่ของข้อกฎหมายก็ยังมีหลายเรื่องที่ทำให้เราเสียเปรียบสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ที่ภาครัฐควรเข้ามาปรับปรุงข้อกฎหมายเพื่อส่งเสริมยอชต์ทัวริซึม ได้แก่
1. กฎหมายในการตรวจคนเข้าเมืองของไทย ที่ปัจจุบัน กำหนดให้เรืออยู่ได้ 6 เดือน+ 6 เดือน ควรจะขยายระยะเวลามากกว่านี้ เพราะในอินโดนีเซีย อนุญาตให้อยู่ได้ 3 ปี ส่วนสิงคโปร์และมาเลเซีย ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาเลย เนื่องจากยอชต์ ทัวริซึมหรือธุรกิจการท่องเที่ยวทางเรือ จัดว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบไฮเอนด์ ที่แต่ละประเทศก็ต้องการส่งเสริม
2. การขอให้ปลดล็อกการเรียกเก็บภาษี 7% ของมูลค่าเรือ สำหรับเรือซูเปอร์ ยอชต์ ของต่างชาติที่มาปล่อยเช่าในไทย แม้จะเป็นเพียงการเก็บมัดจำ เพราะรัฐมองว่าเป็นการนำเข้าเรือ แล้วมาขอคืนในภายหลังในวันที่นำเรือออก แต่ในทางปฏิบัติถือว่าไม่สะดวก เนื่องจากมูลค่าเรือซูเปอร์ยอชต์อยู่ในหลักหลายร้อยล้านบาทไปจนถึงหลักพันล้านบาท การนำเงิน 7% ของมูลค่าเรือมามัดจำไว้ก่อน ก็ถือว่าไม่จูงใจ หากเทียบกับแหล่งล่องเรือในหลายประเทศ ที่ไม่มีการกำหนดในเรื่องดังกล่าว
3. อยากจะให้มีการพิจารณาให้คนขับเรือยอชต์ที่มีไลเซนส์ขับเรือ แบบนานาชาติ สามารถขับเรือเองได้ โดยไม่ต้องใช้กัปตันชาวไทย เหมือนกับการเช่าเรือใบและเรือโมโนฮัลล์ เพื่อขับเองได้
ทั้งนี้เทรนด์การท่องเที่ยวโดยการล่องเรือยอชต์ จัดว่าเป็นไลฟ์สไตล์ใหม่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยวฝั่ง “เอเชีย” หลังพฤติกรรมเปลี่ยน หันมาล่องเรือยอชต์เพื่อพักผ่อนและออกไปดำนํ้าชมปะการังมากขึ้น โดยกล้าที่จะสู้แดดและล่องทะเล ซึ่งเป็นในลักษณะวันเดย์ทริป ไปจนถึงเป็นแพ็กเกจหลายวัน แม้ว่าการท่องเที่ยวของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ จะเติบโตไม่ถึง 2% ก็สอด คล้องกับนักท่องเที่ยวที่มาล่องเรือที่โอเชี่ยนมารีน่า ก็เติบโตอยู่ที่ 2%
คนไทยซื้อยอชต์หรูเพิ่มขึ้น
นายณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอเชี่ยน พรอพเพอร์ตี้ จำกัด เผยว่าแม้การล่องเรือทั้งแบบเช่าเหมาลำและจอยเป็นกรุ๊ปทัวร์ที่โอเชี่ยนมารีน่า พัทยา จะลดลง 2% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยนักท่องเที่ยวจีนแม้จะโตลดลง แต่ก็ยังเป็นตลาดหลัก คิดเป็นสัดส่วน 40% แต่ปีนี้ตลาดจากเกาหลีใต้เพิ่มขึ้น มีสัดส่วน 35% และคนไทยก็ล่องเรือเพิ่มขึ้น อยู่ในสัดส่วน 20% ที่เหลือก็เป็นตลาดอื่นๆ
นายณพงศ์ ปริพนธ์พจนพิสุทธิ์
อย่างไรก็ตามคาดการณ์ว่าจบสิ้นปีนี้โอเชี่ยนมารีน่า จะมียอดลูกค้าล่องเรือโต 5-10% เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งมีลูกค้ามาใช้บริการเฉลี่ยวันละเกือบ 1,000 คน ใช้จ่ายคนละ 3,000 บาทต่อวัน เกิดมูลค่าการใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 1.1 พันล้านบาท จากจำนวนเรือที่เจ้าของเรือปล่อยเช่ารายวัน 67 ลำในปัจจุบัน โดยกว่า 70% เป็นเรือของคนไทยที่สนใจทำธุรกิจปล่อยเช่า
นอกจากนี้ ยังเห็นเทรนด์คนไทยสนใจซื้อเรือยอชต์ไว้ใช้ส่วนตัว ไม่ต่างจากบ้านพักตากอากาศ สะท้อนจากตัวเลขสัดส่วนเรือยอชต์ที่คนไทยเป็นเจ้าของนำมาจอดที่โอเชี่ยน มารีน่า มีเพิ่มขึ้นเป็น 45% ของจำนวนเรือยอชต์ทั้งหมด 450 ลำ ต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อนมีสัดส่วนอยู่ที่ 35% ของ 400 ลำ หรือคิดเป็นอัตราคนไทยเป็นเจ้าของเรือยอชต์มากขึ้นเฉลี่ย 10% ต่อปี ส่วนใหญ่เห็นโอกาสจากการได้ลองใช้บริการเช่าเหมาลำ แล้วสนใจมาเป็นเจ้าของเรือตามมาด้วยเช่นกัน
ทั้งหมดเป็นภาพรวมของตลาดยอชต์ ทัวริซึม และมุมมองการขับเคลื่อนธุรกิจนี้ ให้ไปถึงเป้าหมายการทำให้ไทยเป็นมารีน่า ฮับของรัฐบาล
รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3494 วันที่ 8-10 สิงหาคม 2562