พลิกแฟ้มประกันรายได้ข้าวรัฐบาลประชาธิปัตย์ 10 ปีก่อนหน้า ก.คลังเผยขาดทุนร่วม 1.1 แสนล้านจากตั้งราคาประกันสูง ต้องชดเชยส่วนต่างมาก “ทีดีอาร์ไอ” แนะจ่ายตรงเลียนโมเดลรัฐบาลลุงตู่ ผวาโรงสีรวมหัวกดราคา ชาวนาพื้นที่ห่างไกลเสียเปรียบ
เคาะเรียบร้อยแล้วสำหรับประกันรายได้เกษตรกร ในส่วนของข้าว หลังที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย (วันที่ 17 ส.ค.62) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบโครงการประกันรายได้ข้าว 5 ประเภทได้แก่ 1.ข้าวเปลือกเจ้า 1 หมื่นบาทต่อตัน (ความชื้น 15%) ให้ครัวเรือนละไม่เกินละ 30 ตันหรือไม่เกิน 40 ไร่ 2. ข้าวเปลือกเหนียว 1.2 หมื่นบาทตัน ไม่เกิน 16 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่ 3. ข้าวเปลือกหอมมะลิ 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ไม่เกิน 14 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่ 4. ข้าวเปลือกหอมจังหวัด 1.4 หมื่นบาทต่อตัน ไม่เกิน 16 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่ และ 5.ข้าวหอมปทุมธานี 1.1 หมื่นบาทต่อตัน ไม่เกิน 25 ตัน หรือไม่เกิน 40 ไร่ ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาต่อไป
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ย้อนหลังโครงการประกันรายได้ข้าวเมื่อ 10 ปีก่อน (ปี 2552-2553) ในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีผลการดำเนินการ 2 ปีขาดทุน 1.1 แสนล้านบาท (กราฟิกประกอบ) จากบทวิเคราะห์สรุปประเด็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลขาดทุนจำนวนมากผลจากการกำหนดประกันรายได้ในขณะนั้นค่อนข้างสูงมาก แต่ผลดีคือรัฐบาลไม่มีสต๊อกข้าวเก็บไว้เหมือนโครงการจำนำข้าว
ในครั้งนั้นเห็นชอบกำหนดชนิดข้าวเปลือก ที่จะเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/2553 และปี 2553/2554 ในข้าว 5 ชนิด โดยข้าวเปลือกหอมมะลิประกันรายได้ที่ 15,300 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน,ข้าวเปลือกหอมจังหวัด 14,300 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน, ข้าวเปลือกปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน,ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตันไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 9,500 บาทต่อตันไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน โดยเฉลี่ยราคาข้าวในตลาดขณะนั้นสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานว่า ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 14-15% ราคาตลาดเฉลี่ยที่ 8,600-8,900 บาทต่อตัน ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีเฉลี่ยที่ 11,500 บาทต่อตัน ส่วนราคาข้าวเปลือกหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 15,000 บาทต่อตัน
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ที่เป็นปัญหาหรือจุดอ่อนของทั้ง 2 โครงการไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวหรือประกันรายได้ คือการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่มีข้อบกพร่อง มีการแจ้งเท็จทั้งเรื่องพันธุ์ข้าวที่ปลูก พื้นที่เพาะปลูก และผลผลิตที่ได้ เพราะข้าวบางพันธุ์ที่เพาะปลูก และผลผลิตที่ได้ไม่มีการประกันรายได้ บางรายก็ไม่ได้ปลูกข้าวจริง มีเจ้าของที่ดินเอาสิทธิ์การประกันรายได้ทั้งที่ไม่ได้ทำนา
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในอดีตการคำนวณส่วนต่างเพื่อชดเชยรายได้จะคำนวณจากราคาตลาดในทุก 2 สัปดาห์ มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันโดยเฉพาะชาวนาที่อยู่พื้นที่ห่างไกลที่เสียเปรียบเพราะต้องเสียค่าขนส่ง ดังนั้นง่ายที่สุด อย่างที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ผ่านมาคือการจ่ายเงินตรงให้เกษตรกรไปเลย ซึ่งจะทำให้เกษตรกรไม่ต้องเผชิญปัญหาจากเกรงว่าโรงสีจะรวมหัวกันกดราคา
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,498 วันที่ 22-24 สิงหาคม 2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
● ตีกันรัฐประกันราคาข้าว หวั่นบิดเบือนกลไกตลาด
● ชาวนาค้านประกันราคาข้าวหวั่นตกหลุมการเมือง