จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ปรับตัวลดลง สาเหตุสำคัญจากคณะกรรมาธิการส่งเสริมการสนับสนุนดำเนินการตามกฎระเบียบว่าด้วยการไม่ตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR) ได้เสนอขยายระยะเวลาในการเตรียมปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลก ทั้งประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและประเทศที่ไม่เป็นสมาชิก ไปอีก 12 เดือน เพื่อให้ทุกประเทศสามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น ตั้งแต่เริ่มต้นบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลให้เริ่มมีการบังคับใช้กฎระเบียบ EUDR กับบริษัทหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ในวันที่ 30 ธันวาคม 2568 และวิสาหกิจขนาดย่อมหรือผู้ประกอบการรายย่อยในวันที่ 30 มิถุนายน 2569 เป็นต้นไป
นายกรกฎ กิตติพล เลขาธิการสมาคมยางพาราไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่ผลผลิตยางออกมามากก็จริง แต่ความต้องการสินค้าของผู้ส่งออกก็มีมากเช่นเดียวกัน ทำให้ราคายางไม่ลดลงมากนัก หากเปรียบเทียบราคายางพาราในเวลาเดียวกัน ตัวอย่างราคายางแผ่นรมควัน ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 ราคา เฉลี่ย 70 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเฉลี่ย 55 บาทต่อ กก. เมื่อเทียบกับปีที่แล้วราคายังสูงกว่า 15 บาท ต่อ กก. สอดคล้องที่กระทรวงพาณิชย์แถลงว่าการส่งออกยางพารามูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณลดลง ดังนั้นในอนาคตขึ้นอยู่กับการบริหารของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ว่าจะมีนโยบายเกี่ยวกับการโค่นสวนยางอย่างไร หรือต้องการที่จะลดซัพพลายลงอีกหรือไม่
อย่างไรก็ดีในส่วนผู้ประกอบการเห็นว่าด้านราคาและผลผลิตยางเวลานี้ถือว่ามีความสมดุล ราคาก็จะไม่ลงตํ่าไปกว่านี้แล้ว โดยเฉพาะผู้ค้าที่มีคำสั่งซื้อระยะยาว จะซื้อยางไว้ส่งมอบเช่นเดียวกัน เพราะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไปซึ่งเป็นช่วงฤดูแล้ง ยางแทบจะไม่มีแล้ว ขณะที่เวลานี้มีคำสั่งซื้อจากจีนเข้ามาจำนวนมาก ส่วนอีกกลุ่มคือลูกค้าจากสหภาพยุโรปที่ยังไม่ได้ซื้อยาง เพราะก่อนหน้ารอกฎหมายอียูดีอาร์ว่าจะเลื่อนหรือไม่เลื่อน กลุ่มนี้จึงยังซื้อน้อย แต่เมื่อมีความชัดเจนแล้วกลุ่มนี้ก็จะกลับมาซื้อดังนั้นมองแล้วยางไม่ล้นตลาดแน่นอน และราคาจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ หากเศรษฐกิจดีขึ้น ราคาจะค่อยๆ ขยับขึ้น
นายกรกฎ กล่าวว่า แม้ทิศทางราคายางพาราในปีหน้าจะยังดี และมีแนวโน้มจะขยับขึ้น แต่สิ่งที่กังวลและน่าห่วง ได้แก่ 1.นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ ที่ห่วงว่าจะสุดโต่ง และส่งผลกระทบต่อการค้าโลก อาจทำให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกชะงัก และจะส่งผลกระทบต่อราคายางในประเทศ หรือนโยบายที่จะออกมาอาจทำให้เศรษฐกิจโลกแกว่ง 2.สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ที่หลายฝ่ายคาดการณ์จะรุนแรงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อยางพาราจากจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่จากไทยลดลง ซึ่งต้องจับตาเป็นระยะๆ
ด้านแหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) กล่าวว่า จากนโยบายเร่งด่วนรัฐบาลที่ให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็นปัญหาจึงได้มีการขยาย 2 โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา ได้แก่ 1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง 1 หมื่นล้านบาท ดำเนินงานโดย กยท. โดยขยายระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ 1 เมษายน 2567 -31 มีนาคม 2571 มีผลการดำเนินงาน 2 กลุ่มได้แก่ 1.สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร จำนวน 1,069 แห่ง สามารถรวบรวมผลผลิต กว่า 5.5 แสนตัน/ปี คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท 2.วิสาหกิจชุมชน จำนวน 33 แห่ง มีปริมาณผลผลิตรวม 3.7 หมื่นตัน
2.โครงการขยายสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อแปรรูปยางพารา 5,000 ล้านบาท ดำเนินงานโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ จะขยายระยะเวลาออกไปเช่นเดียวกัน นับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 9 ปีสามารถให้แปรรูปยางพารา จำนวน 31,965 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 3,552 ล้านบาท (กราฟิกประกอบ) มั่นใจว่า 2 โครงการนี้เพียงพอที่จะดูดซับราคายางได้
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,046 วันที่ 21 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567