‘แอนิเมชัน’ซบ แนะผู้ผลิตรุกตลาดบลูโอเชียน เกษตรโรงพยาบาล

24 ส.ค. 2562 | 14:13 น.

ตลาดแอนิเมชันซบ “สภาดิจิทัลฯ” แนะผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์หันหาตลาดบลูโอเชียน ทั้งเกษตร โรงพยาบาล โรงงาน ขณะที่ตลาดอี-สปอร์ต ดันอุตสาหกรรมเกมโตต่อเนื่อง

ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ ซึ่งประกอบด้วย แอนิเมชัน เกม และคาแรกเตอร์ เป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในอนาคต แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาพบว่าตลาดแอนิเมชันมีอัตราการเติบโตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการ หรือสถานีโทรทัศน์ให้ความสนใจงานด้านนี้น้อยลง ดังนั้นผู้ผลิตคอนเทนต์แอนิเมชันจึงต้องหาช่องทางตลาดใหม่ สวนทางกับอุตสาหกรรมการเกษตร การแพทย์ และโรงงานการผลิตรถยนต์ เครื่องจักรที่กลับให้ความสนใจงานด้านนี้มากขึ้น

ทั้งนี้จากข้อมูลการสำรวจมูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์โดย บริษัท ไอดีซี รีเสิร์ช (ไทยแลนด์) จำกัด ในปี 2560 พบว่า มีมูลค่า 2.50 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น เกม 1.92 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ แอนิเมชัน 3,799 ล้านบาท และ คาแรกเตอร์ 1,960 ล้านบาท หากเปรียบเทียบในปี 2559 อุตสาหกรรมเกม และคาแรกเตอร์ยังมีการเติบโตที่ดี ขณะที่ตลาดแอนิเมชันเติบโตลดลง 4% จากปีก่อน

‘แอนิเมชัน’ซบ แนะผู้ผลิตรุกตลาดบลูโอเชียน เกษตรโรงพยาบาล

นายลักษมณ์ เตชะวันชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท IMAGINE GROUP รองประธานสภาดิจิทัลแห่งประเทศไทย และรองประธานสมาคมสมาพันธ์ดิจิทัลคอนเทนต์บันเทิงไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมแอนิเมชันและ คาแรกเตอร์ ถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจประเภทการรับจ้างผลิต เนื่องจากผู้ประกอบการให้ความสนใจกับการรับจ้างผลิตงานที่เป็นลักษณะงานระยะสั้นแต่ได้รับรายได้ที่คุ้มค่ามากขึ้น รวมทั้งสถานีโทรทัศน์หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องจ้างงานรูปแบบนี้น้อยลง เนื่องจากมีต้นทุนสูง จึงทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตลดลงจากปีก่อนๆ ดังนั้นผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์หรือผู้ทำงานสายนี้ต้อง วิ่งหาตลาดบลูโอเชียนทดแทน เช่น ธุรกิจเกม หรือการดีไซน์คาแรกเตอร์ต่างๆ

‘แอนิเมชัน’ซบ แนะผู้ผลิตรุกตลาดบลูโอเชียน เกษตรโรงพยาบาล

“ผู้ผลิตคอนเทนต์วันนี้ไม่แตกต่างจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ลักษณะเดียวกันแต่ครั้งนี้ใช้เวลายาวนานกว่า ประกอบกับภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อที่ผ่านมาอยู่ในสถานการณ์ไม่ค่อยดี หรือไม่มีการเติบโต ดังนั้นผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนต์จึงต้องปรับตัวหาตลาดใหม่ หรือตลาดบลูโอเชียน ทดแทน เช่น ธุรกิจการเกษตร โรงงาน และโรงพยาบาล เป็นต้น”

ทั้งนี้ส่วนตัวอยากให้ผู้ผลิตงานสายนี้ออกจากกรอบความคิดก่อนว่าเทคโนโลยีที่เราใช้ หรืองานที่ทำอยู่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสายสื่อเท่านั้น แต่ความจริงเทคโนโลยี AR ที่ใช้สามารถเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอื่นได้มากมาย เช่น ธุรกิจสมาร์ทฟาร์ม การผ่าตัดออนไลน์ หรือประกอบชิ้นส่วนรถยนต์โดยใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

 

ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจตลาดเกมในประเทศไทยพบว่า เป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ มีผู้บริโภคตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เป็นผู้บริโภคที่มีความพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อเล่นเกมให้ได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องการ ตั้งแต่เพื่อการพักผ่อนที่มีการใช้จ่ายกับเกมน้อย จนถึงเล่นเพื่อเป็นอาชีพหรือเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติที่จะมีการใช้จ่ายกับเกมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของกิจกรรม อี-สปอร์ต และอีเวนต์ที่จัดขึ้นโดยอี-สปอร์ต เช่น การจัดแข่งขันเกมที่มีการจัดอันดับในการเล่น ที่มีการแบ่งผู้เล่นเป็นลีกจนถึง ระดับตัวแทนประเทศเพื่อที่จะเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ

‘แอนิเมชัน’ซบ แนะผู้ผลิตรุกตลาดบลูโอเชียน เกษตรโรงพยาบาล

เช่นเดียวกับบริษัท IMAGINE GROUP ในช่วงที่ผ่านมาได้หาช่องทางการทำธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้น จากเดิมสัดส่วนรายได้มาจากด้านเทคโนโลยี 50% และดีไซน์ คาแรกเตอร์ บริการ ฯลฯ 50% แต่ปัจจุบันปรับสัดส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีลดลงเหลือ 20%และให้ความสำคัญกับด้านดีไซน์มากขึ้นเป็น 80% และสำหรับงานดีไซน์ในช่วงที่ผ่านมาที่บริษัทมีความภูมิใจร่วมพัฒนา ได้แก่ แอพพลิเคชัน iGLA มวยไทย หลักสูตรสอนมวยไทยที่ไปคว้ารางวัลการสอนมวยไทยระดับโลกมาแล้ว และในปีนี้บริษัทยังคงมุ่งเน้นงานบริการต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้จะมีการร่วมทำงานกับหลายบริษัท โดยส่วนใหญ่จะเป็น อุตสาหกรรมการเกษตร และโรงพยาบาลที่เข้ามา ซึ่งรายได้ปีนี้บริษัทคาดว่าจะเติบโตกว่า 10% 

หน้า 30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3498 ระหว่างวันที่ 22 - 24 สิงหาคม 2562