เปิดแนวโน้ม ค่าเงินบาท ราคาน้ำมัน ปี 2568 ผจญวิกฤตหนักนอกประเทศ

30 ธ.ค. 2567 | 10:58 น.

เปิดแนวโน้มสถานการณ์ค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน ปี 2568 ยังคงต้องผจญกับผลกระทบภายนอกประเทศ เช็คข้อมูลล่าสุดจาก สศช. ประเมินทิศทาง และปัจจัยเสี่ยง แบบเจาะลึกที่นี่

สถานการณ์ค่าเงินบาท รวมไปถึงราคาน้ำมัน นับเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากต่างประเทศ จนกระทบกับค่าเงินบาท และราคาน้ำมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ออกมาประเมินเกี่ยวกับค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน อย่างน่าสนใจ มีเนื้อหา ดังนี้

สถานการณ์ค่าเงินบาท ปี 2568

ค่าเงินบาทเฉลี่ยในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 34.5 - 35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับเฉลี่ย 35.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 โดยข้อมูลล่าสุด ค่าเงินบาทนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 35.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะยังทรงตัวในระดับปัจจุบันต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2567

ขณะที่ค่าเงินบาทในปี 2568 มีแนวโน้มจะผันผวนสูงเช่นเดียวกับในช่วงปี 2567 เนื่องจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอกประเทศโดยเฉพาะทิศทางการด่าเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลาง รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศจากการด่าเนินนโยบายเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2568 ค่าเงินบาท จะแข็งค่าขึ้นอย่างช้า ๆ เนื่องจากแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมทั้งแนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง ตามการเพิ่มขึ้นของรายรับจากภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลให้ค่าเงินบาทไม่ได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากและมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในบางช่วง ได้แก่ การคาดการณ์การด่าเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปจนท่าให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากที่คาดไว้เดิม

จนส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มแข็งค่า ประกอบกับแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินหยวนภายใต้ทิศทางการชะลอตัวของการลงทุน ภายในประเทศของจีน ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินบาทได้

สถานการณ์ราคาน้ำมัน ปี 2568

สศช. มองว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 75.0 - 85.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ทรงตัวเท่ากับระดับเฉลี่ย 80.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในปี 2567 โดยมีปัจจัยเสี่ยงทางบวกที่ทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนี้

  1. ผลกระทบจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านที่อาจส่งผลต่ออุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลก
  2. การลดลงอย่างต่อเนื่องของปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้แนวโน้มการผลิตน้ำมันดิบลดลง

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในปี 2568 ยังมีโอกาสที่จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงทางลบที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ได้แก่ แนวโน้มการชะลอตัวของอุปสงค์ การใช้น้ำมันโลก ตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน ท่ามกลางการคาดการณ์การยกระดับความรุนแรงของการดำเนินมาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกัน

รวมทั้งแนวโน้มการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC+ ในปี 2568 เป็นต้นไป เช่นเดียวกับความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ลดลงในหลายประเทศจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพื่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ส่วนภาพรวมของเศรษฐกิจ ปี 2568 สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัว 2.3 - 3.3% โดยมีค่ากลางการประมาณการอยู่ที่ 2.8% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.6% ในปี 2567 สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่า จะอยู่ในช่วง 0.3 - 1.3% เทียบกับ 0.5% ในปี 2567 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.6% ของ GDP เทียบกับ 2.5% ในปี 2567