เปิด 5 กลุ่มธุรกิจทำเงินจาก  LAZY CONSUMER

10 ก.ย. 2562 | 08:41 น.

         CMMU ชี้ 10 พฤติกรรมคนกลุ่ม Lazy consumer หรือตลาดคนขี้เกียจ สร้างโอกาสทางธุรกิจทั้ง “บริการสั่งอาหาร ซื้อของแทน-สินค้าแฮนด์ฟรี –สินค้าพร้อมทาน /คอมมิวนิตี้ –วีดีโอคอนเทนต์”   แนะใช้กลยุทธ์ SLOTH ตอบโจกย์

        การที่ผู้คนจำนวนมากหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดแรงงานและเวลา จนมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่สังคมของความเคยชิน หรือที่เรียกว่า “ความขี้เกียจ” และเศรษฐกิจขี้เกียจ (Lazy Economy) ซึ่งเกิดจากความต้องการความสะดวกสบายในชีวิต โดยที่ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินหากสินค้าหรือบริการนั้นๆช่วยทำให้รู้สึกว่าได้รับความสะดวกสบายมากกว่าเดิม 

         ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) บอกว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความต้องการความสะดวกสบายขั้นสุด ยังทำให้เกิดธุรกิจที่ตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจจองคิว บริการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ สินค้าประเภทอาหารพร้อมรับประทาน เป็นต้น          

      วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทำการวิจัยกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,200 คน ใน 4 กลุ่มอายุ โดยแบ่งเป็น Gen Z, Gen Y, Gen X และ Baby Boomers พบว่า 10 อันดับกิจกรรมที่ในไทยขี้เกียจมากที่สุด ได้แก่  1.ออกกำลังกาย 84% 2.รอคิวซื้อของ 81% 3.ทำความสะอาดบ้าน 77% 4.อ่านหนังสือ 70% 5.ทำอาหาร 69 % 6.พูดคุยหรือเจอคนเยอะๆ 68% 7.ดูแลผิวพรรณตัวเอง 68% 8.เรียน/ทำงาน 65% 9.ออกไปช้อปปิ้ง 64%  และ 10.เดินทางไปไหน มาไหน 60%

เปิด 5 กลุ่มธุรกิจทำเงินจาก  LAZY CONSUMER

       เมื่อทำการวิเคราะห์เชิงลึก 5 อันดับแรกของพฤติกรรมที่คนทั่วไปขี้เกียจที่สุด พบว่า กลุ่มมนุษย์อยากดูดีแต่ไม่มีแรงหรือการขี้เกียจออกกำลังกายนั้น คนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  84% หรือประมาณ 55 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน มนุษย์ชอบช็อป แต่ไม่ชอบรอหรือขี้เกียจรอคิวซื้อของ  พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  81% หรือประมาณ 53 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน มนุษย์บ้านรกสกปรกค่อยทำ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  77% หรือประมาณ 50 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน

เปิด 5 กลุ่มธุรกิจทำเงินจาก  LAZY CONSUMER

        ส่วนมนุษย์ไม่ชอบอ่านแค่ผ่านๆก็พอหรือขี้เกียจอ่านหนังสือ พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  70% หรือประมาณ 46 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน  และมนุษย์ชอบกินแต่ไม่อินทำอาหารหรือขี้เกียจทำอาหาร พบว่าคนไทยมีพฤติกรรมดังกล่าวมากถึง  69 % หรือประมาณ 45 ล้านคนจากจำนวนประชากร 66.41 ล้านคน โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา รู้สึกเหนื่อยล้า ไม่มีแรงจูงใจ และทำไม่เป็น      

       นางสาวฝนทิพย์ กิตติประเสริฐแสง หัวหน้าทีมงานวิจัยการทำการตลาด Lazy consumer เจาะลึกอินไซต์พิชิตใจคนขี้เกียจ นักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เคล็ดลับการทำการตลาดในยุคที่คนขี้เกียจครองเมืองนั้น เจ้าของสินค้าและบริการจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า “SLOTH” เพื่อครองใจผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว

เปิด 5 กลุ่มธุรกิจทำเงินจาก  LAZY CONSUMER

       โดยกลยุทธ์ “SLOTH  STRATEGY” ประกอบด้วย Speed คือต้องมีความรวดเร็ว และต้องไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกเสียเวลา Lean กระชับ ตัดท่อนขั้นตอนที่ยุ่งยากออก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งาน EnjOy ต้องทำให้ผู้บริโภครู้สึกสนุก และเกิดแรงจูงใจในการใช้สินค้าและบริการ ConvenienT สินค้าหรือบริการต้องมีความสะดวก ช่วยให้ชีวิตนั้นง่ายมากขึ้น  และสุดท้ายคือ Happy ความสุข จากความต้องการที่ถูกเติมเต็มและปัญหาได้ถูกแก้ไขด้วยวิธีที่ง่ายที่สุด ทั้งนี้ในฐานะนักการตลาด และผู้ประกอบการ ไม่ว่าลูกค้าจะมีพฤติกรรมอย่างไร แม้เป็นมนุษย์ขี้เกียจก็ตาม เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นลูกค้าแล้ว การสร้างความสุข ความพึงพอใจ ก็เป็นหน้าที่ของเรานั้นเอง เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้บริโภคมีความสุข ผู้ประกอบการก็จะมีความสุขตามไปด้วย โดยเฉพาะการส่งผลที่ดีให้กับยอดขายและสร้างความจงรักภักดีให้กับแบรนด์สินค้าอย่างแน่นอน

เปิด 5 กลุ่มธุรกิจทำเงินจาก  LAZY CONSUMER

        จากการวิจัยยังพบว่า 5 ธุรกิจและบริการที่กำลังมาแรงที่สุดในไทยและคาดว่าในอนาคตจะสามารถครองใจตลาดคนขี้เกียจได้ดี คือ 1.ธุรกิจที่ทำแทนได้ อาทิ ทำบริการความสะอาดบ้าน  บริหารสั่งอาหาร  บริการซื้อของแทน  2.ธุรกิจที่ไม่ต้องขยับ ไม่ต้องจับ ไม่ต้องถือ อาทิ สินค้าประเภท Automation และ Hand Free 3.ธุรกิจที่พร้อมใช้งานทันที เช่น สินค้าประเภทพร้อมกิน พร้อมดื่ม 4.ธุรกิจร่วมมือ ร่วมใจ เช่น community ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในรูปแบบออนไลน์ 5.ธุรกิจที่เน้นการฟัง เช่น Podcast content หรือVDO content   อย่างไรก็ตามธุรกิจและบริการเหล่านี้ในอนาคตคาดว่าจะได้รับความนิยมและตอบสนองความต้องการตลาดกลุ่มคนขี้เกียจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากสตาร์ทอัพที่กำลังมองหาแนวทางทำธุรกิจอาจจะหันมาศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมตลาดคนขี้เกียจและนำไปต่อยอดได้ในอนาคต