แบรนด์เรือนไม้หอมเดินเครื่องรุกตลาดออนไลน์ เล็งพัฒนาแอพพลิเคชันเป็นของตนเองเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ปูทางไปสู่การนำผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยรอบมาจำหน่ายสร้างรายได้จากส่วนแบ่งยอดขาย พร้อมร่วมมือ ม.สุนันทาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ และแตกแบรนด์สู่เกรดพรีเมียม วางเป้าโต 25% ปี 2562
นางสาวเกวลี ชื่นสงวน ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเรือนไม้หอม ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสมุนไพรแบรนด์ “เรือนไม้หอม” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลยุทธ์การทำตลาดในระยะถัดไปจะมุ่งเน้นการทำตลาดบนช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยล่าสุดแบรนด์กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการพัฒนาแอพพลิเคชันสำหรับจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ซึ่งมีกว่า 70 ชนิดโดยเฉพาะ ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563 จากเดิมที่มีจำหน่ายอยู่แล้วบนช่องทางของไลน์แอด, เว็บไซต์, ลาซาด้า (Lazada) และช้อปปี้ (Shopee) เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อแอพของแบรนด์เปิดใช้อย่างเป็นทางการ และได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค แบรนด์ยังมีแผนที่จะต่อยอดไปสู่การนำผลิตภัณฑ์ชุมชนของจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดโดยรอบมาจำหน่ายผ่านแอพ โดยใช้รูปแบบของการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายในการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับแอพฯได้มากขึ้นในการดึงดูดใจผู้บริโภคให้เข้ามาใช้งาน เพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ดี ขณะนี้แบรนด์ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย และพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาเพื่อนำเสนอต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์จากใบขลู่ที่เป็นพืชท้องถิ่นของสมุทรสงคราม โดยอาจจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการบำรุงผิวหน้าในลักษณะของการมาร์กหน้า เป็นต้น
“ใบขลู่เป็นพืชสมุนไพรที่ปลูกเป็นจำนวนมากที่อำเภอบางจะเกร็ง โดยมีสรรพคุณหลากหลาย ทั้งการลดเบาหวาน ลดไขมันในเส้นเลือด และล้างของเสียในไต เป็นต้น ซึ่งแบรนด์จะรับซื้อใบขลู่จากชาวบ้านเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน”
นอกจากนี้ แบรนด์ยังมีแผนที่จะสร้างแบรนด์ใหม่เพิ่มอีกหนึ่งแบรนด์ โดยจะเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เป็นเกรดแบบพรีเมียมจากสมุนไพรสด ซึ่งจะมีการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในขั้นตอนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ และขยายฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น โดยขั้นตอนในปัจจุบันอยู่ระหว่างการค้นหาข้อมูลเพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มทำตลาดในปี 2563 ขณะที่ในส่วนของการรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้นำผลิตภัณฑ์ไปทำตลาด หรือสร้างแบรนด์ต่อก็ยังคงเปิดรับทำอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ในส่วนของช่องทางการจำหน่ายแบบออฟไลน์แบรนด์ก็จะดำเนินการควบคู่กันไป โดยจะพยายามหาช่องทางการจำหน่ายให้เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีจำหน่ายผ่านหน้าร้านเรือนไม้หอมจำนวน 6 สาขา , ร้านจำหน่ายของฝาก, ร้านขายยาทั่วประเทศ เป็นต้น อีกทั้งยังมีการจัดโปรโมชันแบบต่อเนื่องทั้งบนช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อกระตุ้นยอดขาย
นางสาวเกวลี กล่าวต่อไปอีกว่า ในปีนี้เชื่อว่าแบนด์จะมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 25% จากปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นการเติบโตจากช่องทางออนไลน์ประมาณ 15-20% และช่องทางออฟไลน์ประมาณ 5-10% ซึ่งจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ เรือนไม้หอม อยู่ที่การนำสมุนไพรสดมาแปรรูปให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ ที่ใช้ได้ตั้งแต่หัวจรดเท้า ไม่ว่าจะเป็น ยาสระผม ครีมนวดผม ครีมทาส้นเท้า นํ้ามันแก้ปวดเมื่อย นํ้าหอม อโรม่า เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ไม่มีการผสมสารเคมีอีกด้วย
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3504 วันที่ 12-14 กันยายน 2562