นับเป็นเวลากว่า 39 ปีที่ “ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ” ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนแทบจะล้มละลาย เพื่อบุกเบิกธุรกิจสวนสนุกและสวนนํ้าแห่งแรกของไทยให้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ วันนี้กำลังจะถึงยุคเปลี่ยนผ่าน กับการพลิกโฉมครั้งใหญ่ สำหรับการลงทุนสร้างจุดขายใหม่อีกร่วม 3-5 พันล้านบาท และตัดสินใจส่งไม้ต่อธุรกิจให้แก่ทายาทรุ่น 2 ทั้ง 3 คน รวมถึงการยกเครื่ององค์กร เพื่อนำ ธุรกิจเข้าจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ฯในอีก 3 ปีข้างหน้า อ่านได้จากการเปิดใจของนายไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ ประธานคณะกรรมการกลุ่มบริษัทสยามพาร์คซิตี้ฯ
ไชยวัฒน์ เหลืองอมรเลิศ
ดัน3ทายาทบริหารธุรกิจ
วันนี้ด้วยวัย 81 ปี ประกอบกับโลกของการแข่งขันในวันนี้เปลี่ยนไปจากเดิม เพราะเทคโนโลยีก้าวไปไกล การสื่อสารรวดเร็ว การต่อสู้ในรุ่นเราถือว่าจบแล้ว เป็นโลกของคนรุ่นใหม่ ทำให้ผมเห็นว่าถึงเวลาที่จะเกษียณอายุ โดยจะลาออกจากการบริหาร ธุรกิจนี้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ให้ลูกๆ ทั้ง 3 คน (สิทธิศักดิ์-วุฒิชัย เหลืองอมรเลิศ, จิรวรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา) และลูกสะใภ้ (นพกาญจน์ เหลืองอมรเลิศ) เข้ามารับไม้ต่อ โดยผมอาจเป็นที่ปรึกษาชั่วคราว 1-2 ปี และจะไปปฏิษัติธรรมอยู่ที่วัดในจ.อุดรธานี หลังจากผมบุกเบิกธุรกิจนี้มาในยุคที่ตอนนั้นภาครัฐยังไม่ได้ส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวเลย
ในอดีตผมก็ถูกมองว่าบ้าหรือเปล่าจากเด็กบ้านนอก ก้าวมาเป็นเศรษฐี ทำบ้านจัดสรรขาย เป็นเจ้าของไฟแนนซ์ แต่อยู่ดีๆก็มาทำสวนสนุก-สวนนํ้า ที่การลงทุนก็คืนทุนช้า ลงทุนสูง ทั้งเจอวิกฤติเศรษฐกิจในอดีต เป็นหนี้รวม 3 พันล้านบาทในปี 2544 เงินหมุนแทบไม่ทัน ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กจบป.4 ไหนจะต้องดูแลพนักงานอีก 400-500 คน สวนนํ้าเก่า บริการไม่ดี คนมาน้อยลง เราเกือบไปไม่รอด แล้วไหนจะมีสวนนํ้าเกิดขึ้นตามมาอีกมากในหลายจังหวัด แต่เมื่อประนอมหนี้กับธนาคารกรุงเทพ ได้ส่วนหนึ่งและขายที่ดินย่านลาดพร้าวให้บริษัทแลนด์แลนด์เฮ้าส์ฯไปทำคอนโดมิเนียม เราก็เคลียร์หนี้ได้จนหมด แล้วมาเริ่มต้นใหม่
ที่ผ่านมาก็มีกลุ่มทุนจากต่างประเทศเข้ามาขอซื้อที่นี่ไม่ว่าจะเป็นสวนนํ้าของสเปน หรือแม้แต่ทุนจีนที่จะให้เรา 8 พันล้านบาท เพื่อนำพื้นที่นี้มาทำคอนโดมิเนียม แต่เราก็ไม่ขาย เพราะปลุกปั้นมากันถึงขนาดนี้ ก็ต้องสู้ต่อไป โดยการเริ่มต้น ใหม่วันนี้
ทุ่ม3-5พันล.สร้างจุดขายใหม่
ที่ผ่านมาแม้จะเหนื่อยกับที่นี่ไปมาก ผมขายธุรกิจอื่น ขายที่ดินทุกอย่าง จนเหลือธุรกิจอยู่ที่นี่เพียงที่เดียว และวันนี้ที่นี่กำลังจะก้าวเดินไปสู่ความเป็นสากล โดยรีแบรนด์ใหม่ จาก “สวนสยาม” ที่เชยมาก มาเป็น “สยามอะเมซิ่ง พาร์ค” ปรับภาพลักษณ์การสื่อสาร เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเพิ่มขึ้น ชูจุดเด่นของ 6 เครื่องเล่นทันสมัยระดับโลก ทั้งการยกระดับบริการ จากพัฒนาการบริหารจากธุรกิจครอบครัวไปสู่การบริหารงาน แบบสากล
รวมถึงอยู่ระหว่างลงทุนกว่า 3-5 พันล้านบาท ในการพัฒนาโครงการใหม่ Bangkok World (บางกอกเวิลด์) แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่จะเป็นจุดขายใหม่บนพื้นที่ 70 ไร่ของที่นี่ และเป็นแหล่งระบายสินค้าโอท็อปทั่วไทยทุกชนิด ย้อนเอาเรื่องราวบางกอกในอดีต รวบของดีของเด่นของอร่อยมาอยู่ที่นี่ รวมกว่า 13 อาคาร ที่จะเปิดให้บริการในปี 2564 และเตรียมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในอีก 3 ปี
จริงๆ ผมคิดจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมานานแล้ว และขณะนี้ได้ลงทุนจ้างที่ปรึกษาด้านบัญชี ด้านบุคลากร การทำรีแบรนด์หมดเงินไปกว่า 20 ล้านบาท มีการเพิ่มทุนของบริษัทจาก 150 ล้านบาทเป็น 300 ล้านบาท โดยจากการศึกษาก็พบว่าการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีความเป็นไปได้สูง ซึ่งที่ผ่านมาเราก็มีกำไรในการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว เคยกำไรอยู่ตั้งแต่ 10 -100 ล้านบาท ขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจ แต่สิ่งที่เราต้องทำ คือทำเรื่องของระบบบัญชีให้ชัดเจน การปรับโครงสร้างพนักงานต้องใช้เวลาอีก 2 ปี
ปรับองค์กรนำบริษัทเข้าตลท.
เพราะที่ผ่านมาเราทำธุรกิจแบบครอบครัวแม้จะมีการแยกบริษัทแต่การใช้เงินก็จะใช้เงินรวมกันอยู่ในลักษณะกงสี ขณะนี้อยู่ระหว่างการแยกให้ชัดเจน แยกทรัพย์สิน หนี้สิน รายได้กรรมการ รายได้ส่วนตัวต้องให้ชัด และการดึงทายาทมา บริหารงานก็จะทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากร เปลี่ยนแปลงไปสู่เชิงรุก ถ่ายเลือดใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น ให้เวลาคนรุ่นเก่าปรับตัว หรือเข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์ ให้เงินที่เขาจะออกไปแล้วมีความสุขเลี้ยงตัวเองได้ อย่างปีที่แล้วเราก็ตั้งงบในส่วนนี้ไป 10 ล้านบาท เพื่อยกระดับการให้บริการของพนักงานเพื่อรองรับการทำให้ที่นี่ก้าวไปสู่ความเป็นสากล
ทั้งนี้การตัดสินใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งในการระดมทุนสำหรับการลงทุนในโครงการบางกอกเวิลด์ ตอนนี้ โครงการนี้ใช้เงินกู้ 1 พันล้านบาทส่วนอีก 2 พันล้านบาทก็มองจะระดมทุนมาจากตลาดเงิน ซึ่งโครงการนี้มั่นใจว่าจะดึงดูดให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่นี่จากปัจจุบันราว 1 ล้านคนต่อปีเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคน สร้างรายได้จาก 200 ล้านบาทต่อปีเป็น 300 ล้านบาทต่อปี และโครงการนี้เป็นโครงการสุดท้ายของชีวิตผม การเดินต่อจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของลูกๆ ที่จะเข้ามาสานต่อไป
สัมภาษณ์ โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร
หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3505 วันที่ 15-18 กันยายน 2562