แอร์ไลน์ไทยขาดทุนจนสุดทน จ่อรวมตัวร้องรัฐลดภาษีสรรพสามิตนํ้ามันเครื่องบิน โดนเก็บปีละ 5-6 พันล้าน อ้างแข่งขันดุเดือดจนไม่มีใครกล้าบวกค่าใช้จ่ายผู้โดยสารเพิ่ม 150-200 บาทได้ ด้านกรมสรรพสามิตยันเป็นไปได้ยาก
ธุรกิจการบินแข่งขันกันอย่างดุเดือด จนไม่มีรายใดกล้าปรับเพิ่มค่าโดยสารให้สอดคล้องกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ต้องทนรับภาระไว้เองแม้จะขาดทุน อาทิ ต้นทุนภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน ที่ปรับเพิ่มจาก 20 สตางค์ต่อลิตร เป็น 4.67 บาทต่อลิตร ภาระส่วนนี้ที่สายการบินในประเทศแบกรับรวมกันปีละประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท จนต้องทยอยยกเลิกและลดเที่ยวบินลงถึง 17 เส้นทางในรอบ 2 ปีมานี้ โดยส่วนใหญ่เป็นเส้นทางสู่เมืองรอง หรือเส้นทางเชื่อมจังหวัดหัวเมืองระหว่างภูมิภาค
แหล่งข่าวระดับสูงจากผู้ประกอบการในธุรกิจการบิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ก่อนที่จะมีการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตนํ้ามันอากาศยาน เมื่อเดือนมกราคม 2560 สายการบินต่างๆ ได้คำนวณพบว่าปรับขึ้นภาษีจะทำให้มีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ย 150-200 บาทต่อคนต่อเที่ยวบิน สำหรับเส้นทางบินในประเทศ
เบื้องต้นจะบวกรวมในราคาบัตรโดยสารเครื่องบิน แต่จากภาวะการแข่งขันบางสายการบินจึงไม่บวกเพิ่มในค่าโดยสาร แต่ยอมแบกภาระไว้เอง ทำให้ไม่มีสายการบินไหนปรับขึ้นค่าบัตรโดยสาร และต้องแบกค่าใช้จ่ายส่วนนี้เรื่อยมา เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการขาดทุนของสายการบินต่าง ๆ ทั้งนี้สายการบินที่ให้บริการบินภายในประเทศมาก จะแบกภาระต้นทุนส่วนนี้มากกว่ารายที่มีเที่ยวบินในประเทศน้อยกว่า
นายอัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เปิดเผยว่า ตอนนี้สายการบินต่าง ๆ กำลังหารือร่วมกัน ที่จะเข้าร้องขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือสายการบิน ในการพิจารณาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานลง เนื่องจากที่ผ่านมาการขาดทุนของสายการบินต่าง ๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากภาระภาษีดังกล่าว ที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 200% จากเดิม 60 สตางค์ต่อลิตร เพิ่มมาเป็น 4.67 บาทต่อลิตร ตั้งแต่เมื่อปี 2560 มีสัดส่วนถึงราว 40% ของค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันอากาศยาน และธุรกิจการบินแข่งขันกันสูงมาก จึงไม่สามารถผลักภาระไปที่ผู้บริโภคได้
“ที่ผ่านมาได้เข้าพบนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่ออธิบายปัญหาของสายการบินต่างๆ ในเรื่องนี้ และขณะนี้สายการบินต่างๆ หารือร่วมกัน เพื่อที่จะขอให้ทางกรมสรรพสามิตเห็นใจผู้ประกอบการ ช่วยพิจารณาปรับลดภาษีดังกล่าวลง” นายอัศวิน กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ได้รับทราบในเบื้้องต้นแล้ว ว่าสายการบินไทยได้รับผลกระทบจากภาษีสรรพสามิตนํ้ามันเชื้อเพลิงอากาศยาน สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ แต่การจะปรับลดภาษีลง หากสายการบินทำเรื่องเข้ามาก็ต้องศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ หรือหาช่องทางช่วยเหลือ โดยไม่กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ และเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
ด้านนายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักแผนภาษี กรมสรรพสามิตเปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีนํ้ามันอากาศยานมาตั้งแต่ปี 2527 ควบคู่กับการจัดเก็บภาษีจากผู้ใช้นํ้ามันเบนซิน นํ้ามันดีเซล นํ้ามันเตา และแอลพีจี ซึ่งภาษีนํ้ามันต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเบนซินปัจจุบันจัดเก็บประมาณ 6 บาทต่อลิตร ดีเซล 5 บาท นํ้ามันเตา 2 บาทและแอลพีจี 1 บาท แต่น้ำมันท่าอากาศยานหรือ Jet A1 ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จึงมีการปรับเพิ่มขึ้นจาก 60 สตางค์เป็น 4.67 บาท ประมาณ 2 ปีที่แล้ว เพื่อปรับโครงสร้างภาษีให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการอื่นๆ
“ช่วงที่เราจะปรับภาษี JetA1 ได้หารือกับผู้ประกอบการ เพื่อความเป็นธรรมทางโครงสร้างภาษี ซึ่งผู้ประกอบการก็เข้าใจดีว่า ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะต้องมีการปรับราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 150 บาท ซึ่งก็เป็นแบบนั้นมาในช่วง 2-3 ปี ซึ่งตอนนั้นราคานํ้ามันในตลาดโลกอยู่ที่ 130-140 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันราคานํ้ามันก็ลดลงมาอยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลแล้ว ขณะนี้ผู้ประกอบการสายการบินยังไม่ได้แจ้งที่จะนัดเข้ามาหารือ แต่เป็นไปได้ยากที่จะยกเว้นภาษีส่วนนี้ให้” นายณัฐกรกล่าวทิ้งท้าย
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3514 วันที่ 17-19 ตุลาคม 2562