จับตาประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมือง ส่อแววกร่อย คู่ท้าชิง คิงเพาเวอร์ มีทั้งลังเล บางรายถอย ฉาก ROH-ไมเนอร์ ยันไม่ร่วมประกวดราคา ขณะที่ล็อตเต้ ยังแยกทาง BA แจงเอกชนไม่สนใจ เหตุจากพื้นที่น้อย แถมเป็นสนามบินโลว์คอสต์ ไม่คุ้มลงทุน ทั้งมีการเปิดเสรี Pick up Counter เป็นตัวแปร
ในการเปิดเชิญชวนเอกชนเข้าร่วม ประมูลดิวตี้ฟรี ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม2562 ซึ่งจะเปิดให้เอกชนมาซื้อซองประมูลในวันที่ 24 ตุลาคม-8 พฤศจิกายนนี้ และยื่นประมูลในวันที่ 11 ธันวาคม2562 เพื่อหาผู้ประกอบเข้ามาดำเนินธุรกิจ หลังบริษัทคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด จะหมดสัญญาภายในปี2565
ได้แก่ 1. บริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด 2. บริษัทคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 3. บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) 4.บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือBA และ 5.บริษัท รอยัลออคิด เชอราตัน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)หรือROH และมาร่วมประมูล 3 กลุ่มบริษัท คือ คิงเพาเวอร์ดิวตี้ฟรี,กิจการร่วมค้าการบินกรุงเทพ ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี และกลุ่มกิจการร่วมค้าROH
เนื่องจากขณะนี้พบว่ามีเพียงคิงเพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี เท่านั้น ที่ยืนยันว่าจะเข้าประมูลแน่นอนในฐานะเจ้าของสัมปทานดิวตี้ฟรี ที่สนามบินดอนเมืองมาตั้งแต่ปี 2555 และจะหมดสัญญาในปี 2565 ส่วนเอกชนรายอื่น อย่าง กลุ่มกิจการร่วมค้าROH ยืนยันว่าไม่สนใจร่วมประมูลดิวตี้ฟรี ที่สนามบินดอนเมือง
กลุ่มล็อตเต้ ยังอยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ เนื่องจากมองว่าทอท.ก็จะเปิดเสรีจุดรับมอบสินค้าดิวตี้ฟรี (Pick up) ในสนามบินอยู่แล้ว ก็จะทำให้ดิวตี้ฟรีในเมืองของล็อตเต้ สามารถส่งมอบสินค้าที่สนามบินสุวรรณภูมิได้ในปีหน้า หรือหากยื่นประมูล ก็อาจจะไม่ได้ไปจับมือกับ BA เหมือนที่เคยร่วมกันประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ ดังนั้นหาก BA จะยื่นประมูลก็ต้องยื่นในนามBA เอง หรือหาดิวตี้ฟรีรายอื่นมาร่วมเป็นพันธมิตร
ส่วนบริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ก็ยืนยันว่าไม่สนใจเข้าประมูลดิวตี้ฟรี ด้านบริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะร่วมกับดีเอฟเอส ยื่นประมูลหรือไม่ ทั้งนี้การที่เอกชนหลายรายยังลังเลอยู่ว่าจะยื่นประมูลหรือไม่ และบางรายตัดสินใจไม่ยื่นประมูล เป็นเพราะขนาดของพื้นที่ในการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมืองอยู่ที่ไม่เกิน 4 พันตารางเมตร เท่านั้น โดยพื้นที่รับสัมปทานจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรก คือ พื้นที่ในสัญญาที่คิงเพาเวอร์เปิดให้บริการดิวตี้ฟรี อยู่แล้ว ภายในอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ(อาคาร1)ราว 1,800-2,000 ตารางเมตร และช่วงที่ 2 คือ พื้นที่หลังแผนขยายสนามบินดอนเมือง (ขยายขีดความสามารถรองรับ 40 ล้านคน)แล้วเสร็จ ที่จะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ซึ่งจะทำอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ก็จะทำให้มีพื้นที่ดิวตี้ฟรีเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมแล้วไม่เกิน 4 พันตารางเมตร เพราะหลังเปิดใช้อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 อาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ก็จะถูกปรับมาเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ ที่จะไม่มีการให้บริการในส่วนของดิวตี้ฟรี
อีกทั้งสนามบินดอนเมือง เป็นสนามบินสำหรับโลว์คอสต์ แตกต่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ การคำนวณรายได้ก็อาจจะไม่คุ้มกับการลงทุน และมีความเสี่ยงสูงกว่า ประกอบกับการเปิดเสรี Pick up Counter ก็เป็นอีกช่องทางที่เอกชนสามารถดำเนินธุรกิจดิวตี้ฟรีในเมืองได้
นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินดอนเมืองของทอท.ในครั้งนี้ ทางบริษัทไม่มีความสนใจที่จะเข้าร่วมยื่นประมูล เหมือนเมื่อครั้งที่ไปยื่นประมูลดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิและดิวตี้ฟรีสนามบินภูเก็ต, เชียงใหม่,หาดใหญ่ ในนามกลุ่มกิจการร่วมค้า ROH (บมจ.รอยัลออคิด เชอราตันร่วมกับ Dufry แบรนด์ดิวตี้ฟรีที่มียอดขายอันดับ 1 ของโลก)
เนื่องจากพื้นที่ในการให้สัมปทานมองว่าเป็นไปสำหรับเรา เพราะอยู่ในหลักพันตารางเมตร ไม่เหมือนที่สนามบินสุวรรณภูมิที่มีพื้นที่มากถึง 1.48 หมื่นตารางเมตร
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ รองประธานเจ้าหน้าที่การเงินส่วนกลางและฝ่ายวางแผนกลยุทธ์บริษัทไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน)หรือ MINT กล่าวว่า MINT ไม่สนใจยื่นประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมือง และในการเปิดประมูลดิวตี้ฟรี ที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อนหน้านี้ ทางบริษัทก็ยื่นประมูลราคาเฉพาะพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล)เท่านั้น เพราะเราสนใจเรื่องของรีเทล ไม่ได้สนใจดิวตี้ฟรี จึงไม่ได้ไปยื่นประมูลในส่วนของดิวตี้ฟรีที่สนามบินสุวรรณภูมิ เพียงแต่เข้าไปซื้อซองประกวดราคาดิวตี้ฟรีที่สุวรรณภูมิไว้เท่านั้น
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.กล่าวว่า ในการเปิดประมูลดิวตี้ฟรีที่สนามบินดอนเมืองแม้ซีพีเอ็น จะมีกรณีการฟ้องร้องกับทอท.ทำให้ไม่สามารถยื่นประมูลได้ แต่ในส่วนของบริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัดถ้ามีคุณสมบัติตาม TOR ก็สามารถยื่นประมูลได้
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,515 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2562