นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า บริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน)หรือทอท.ไม่ได้มีนโยบายที่จะยกเลิกการบริการ หรือลดศักยภาพการขยายสนามบินใดๆรวมถึงสนามบินหาดใหญ่หรือสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงรายแต่อย่างใด โดยทอท.ยังคงเดินหน้าแผนขยายสนามบินทั้ง 6 แห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลเหมือนเดิมทุกอย่าง
เนื่องจากปัจจุบันสนามบินต่างๆยกเว้นสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ล้วนแต่มีผู้โดยสารใช้บริการเกินศักยภาพของสนามบิน ซึ่ง สนามบินเชียงใหม่ มีผู้โดยสารใช้บริการในปัจจุบันอยู่ 11.32 ล้านคน จากศักยภาพ 8 ล้านคน สนามบินภูเก็ต มีผู้โดยสารใช้บริการในปัจจุบันอยู่ที่ 17.85 ล้านคน จากศักยภาพ 6.5 ล้านคน และเพิ่งขยายรองรับได้เป็น 12.5 ล้านคน สนามบินหาดใหญ่ ผู้โดยสารใช้บริการในปัจจุบันอยู่ที่ 4.03 ล้านคน จากศักยภาพ2.5 ล้านคน
สนามบินสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารใช้บริการในปัจจุบันอยู่ที่ 64.71 ล้านคน จากศักยภาพ 45 ล้านคน สนามบินดอนเมือง มีผู้โดยสารใช้บริการในปัจจุบันอยู่ที่41.01 ล้านคน จากศักยภาพ 30 ล้านคน และสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย มีผู้โดยสารใช้บริการในปัจจุบันอยู่ที่ 2.95 ล้านคน จากศักยภาพ 3 ล้านคน
ทั้งนี้รวมทั้ง 6 สนามบินมีผู้โดยสารใช้บริการในปัจจุบันอยู่ที่ 141.87 ล้านคน จากศักยภาพที่รองรับได้ 101 ล้านคน ดังนั้นทอท.จึงอยู่ระหว่างขยายศักยภาพสนามบินทั้ง 6 แห่ง เพื่อรองรับผู้โดยสารเพิ่มเป็น 186 ล้านคน ที่จะแล้วเสร็จในปี 2567
ในส่วนของการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ ทอท.ได้มีการเวิร์คช้อปกับทุกภาคส่วน รวมถึงสมาคมสถาปนิก ที่ได้มีการเรียกมารับฟังข้อมูลแผนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศเหนือของสนามบิน และยืนยันว่าจำเป็นต้องสร้าง เพื่อแก้ปัญหาความแออัดของสนามบิน ซึ่งคาดว่าภายในอีก 1 เดือนจากนี้จะนำเสนอเรื่องมายังกระทรวงคมนาคม และกระทรวงคมนาคมจะส่งเรื่องไปยังสภาพัฒน์ต่อไป
นอกจากนี้ผมยังได้ให้นโยบายแก่ทอท.ว่าจะต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาระบบตรวจตราคนต่างด้าวที่ต้องการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Visa) เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว และจูงใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น พร้อมทั้งวางแผนพัฒนาเครือข่ายการเชื่อมต่อระบบราง รถ เรือ อากาศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และคุ้มราคา
นอกจากนี้ ให้มีการสร้างแรงจูงใจเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เช่น การเสนอส่วนลดค่าธรรมเนียมในการขึ้น-ลงของอากาศยาน (Landing Fee) ลดลงร้อยละ 50 ให้แก่สายการบินที่ให้บริการ Charter Flight และปรับปรุงการบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับตารางการบิน (Slot) ของ Charter Flight ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งร่วมมือแบบบูรณาการกับกรมท่าอากาศยาน (ทย.) โดยจัดตารางการบินสำหรับเที่ยวบิน Charter Flight ให้นำเครื่องบินไปลงที่ท่าอากาศยานใกล้เคียงของ ทย. หากเกิดกรณีที่ท่าอากาศยานของ ทอท.ไม่สามารถรองรับได้
รวมถึงการปรับปรุงการให้บริการ เพื่อความสะดวกของผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว ได้แก่ ในด้านการแก้ปัญหาความแออัด เช่น ภายนอกอาคารผู้โดยสาร ให้มีการปรับปรุงเส้นทางจราจร เข้า-ออกท่าอากาศยาน ไม่ให้เกิดคอขวดหรือจุดติดขัด ใช้เทคโนโลยี เช่น CCTV มาช่วยในการบริหารจัดการจราจรภายในท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ วางแผนพัฒนาที่จอดรถให้เพียงพอ และการจัดระเบียบในการจอดรับ-ส่ง บริเวณหน้าอาคารผู้โดยสารไม่ให้เกิดการติดขัด
รวมทั้งให้พัฒนาการเชื่อมต่อการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยานของผู้โดยสารด้วยระบบขนส่งสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ สะดวก ตรงต่อเวลา ทั้งระบบราง รถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่ พร้อมทั้งพิจารณาถึงการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการแจ้งข้อมูลข่าวสารการเดินทางระบบสาธารณะให้แก่นักท่องเที่ยว
การแก้ปัญหาความแออัดภายในอาคารผู้โดยสาร ได้แก่ การปรับปรุงความแออัดบริเวณ Security Check จุด Check-in และ Visa on Arrival (VOA) โดยให้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เพื่อระยะเวลาการรอคิวของผู้โดยสาร และให้หมั่นตรวจเช็คในด้านความสะอาดของพื้นที่ให้บริการผู้โดยสาร โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีผู้โดยสารใช้บริการจำนวนมาก เช่น บริเวณโถงพักคอยผู้โดยสาร ห้องน้ำ และร้านอาหารบริหารจัดการพื้นที่ลานจอดอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาในเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
ทั้งยังต้องเน้นการสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ผู้ใช้บริการ (Customer Satisfaction) ให้ ทอท.สร้างเครือข่ายและพันธมิตรทางธุรกิจ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบขนส่ง โรงแรม/ที่พัก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้รับบริการตลอดการเดินทาง (Pleasant Journey) มีการพัฒนา application เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้บริการ เรื่องร้องเรียนต่างๆ เพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการและนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในด้านการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการของ ทอท.จะต้องเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล เน้นการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของชุมชน ทั้งภาคประชาชนและภาคธุรกิจ เพื่อให้โครงการพัฒนาต่างๆ ที่ออกมาเป็นไปอย่างราบรื่นและสะท้อนถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อรักษาอันดับท่าอากาศยานของ ทอท.ให้อยู่ในระดับสูงและสามารถแข่งขันกับท่าอากาศยานชั้นนำของโลกได้ ให้ ทอท.จัดทำรายงานเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการดำเนินการบริหารจัดการท่าอากาศยานของ ทอท.กับท่าอากาศยานชั้นนำต่างๆ ของโลก
โดยเน้นการเปรียบเทียบในแต่ละตัวชี้วัด (Key Performance Index : KPI) ที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และนำผลการเปรียบเทียบมาทบทวน วิเคราะห์ เพื่อกำหนดเป้าหมาย (Target) ยุทธศาสตร์และแผนการปฏิบัติการ (Roadmap) และตัวชี้วัด (KPI) ขององค์กร ให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพในระดับที่สูงขึ้น รวมทั้งทบทวนแผนพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ ทันต่อกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และพิจารณาถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินงาน เพื่อลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล
ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)หรือทอท.กล่าวว่าทอท.ยังตั้งเป้าขยายสนามบินศักยภาพในทุกสนามบินเหมือนเดิม ส่วนที่มีสื่อตีความถึงเรื่องการที่ทอท.จะปิดสนามบินหาดใหญ่ หรือสนามบินแม่ฟ้าหลวงเชียงราย เป็นการตีความกันไปเอง ซึ่งจริงๆในประเด็นนี้ผมคอนเม้นท์ว่าในอนาคตการเกิดขึ้นของรถไฟความเร็วสูง อาจจะส่งผลกระทบต่อสนามบินที่เป็นเกตเวย์ของทอท.อย่างสนามบินหาดใหญ่หรือแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ที่ผู้โดยสารอาจจะลดน้อยลง ซึ่งองค์กรต้องมีการจัดทำแผนขององค์กรให้มีความยืดหยุ่น เพราะในอีก 6 ปีข้างหน้า ถ้าดีมานต์ผู้โดยสารน้อย จะเกิดอะไรขึ้นหรือองค์กรต้องรับมืออย่างไร เพราะกว่าจะถึงวันนี้ผมก็หมดวาระที่ทอท.ไปแล้ว