ธพว. คิกออฟ สินเชื่อ SME โตไว ไทยยั่งยืน วงเงิน 3,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้
นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า จากที่ธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นผู้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อโครงการกองทุน “สินเชื่อ SMEโตไว ไทยยั่งยืน” วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปีตลอดอายุสัญญา วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี ปลอดเงินต้น สูงสุด 1 ปี โดยจะเปิดรับคำขอกู้พร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 นี้ ณ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.) ทั่วประเทศ
ขณะนี้ ธพว. เตรียมความพร้อมการให้บริการทุกขั้นตอนแล้ว เบื้องต้น นัดเข้าประชุมหารือร่วมกับ สอจ. ทั่วประเทศ เพื่อประสานความร่วมมือให้หลังจากเปิดรับคำขอกู้ในวันที่ 15 พ.ย. นี้ จะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ทันทีโดยไร้รอยต่อ โดยหลังจาก สอจ. พิจารณาคุณสมบัติเสร็จเรียบร้อยและส่งต่อมาให้ ธพว.แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ ธพว. จะเข้าตรวจเยี่ยม และวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการทันที โดยตั้งเป้าพิจารณาอนุมัติและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันทำการ หลังได้รับคำขอกู้จาก สอจ. และคาดว่าจะสามารถอนุมัติและเบิกจ่าย เต็มวงเงิน 3,000 ล้านบาท ภายในเวลา 3 เดือน
ทั้งนี้ จากโครงการกองทุน สินเชื่อ SMEโตไว ไทยยั่งยืน จะสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มนิติบุคคล ได้มากกว่า 1,500 ราย โดยเฉลี่ยวงเงินอนุมัติประมาณ 2 ล้านบาทต่อราย ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบได้ไม่ต่ำกว่า 13,800 ล้านบาท และรักษาการจ้างงานไม่ต่ำกว่า 7,500 คน
สำหรับสินเชื่อ SMEโตไว ไทยยั่งยืนนั้น กำหนดคุณสมบัติต้องเป็นผู้ประกอบการนิติบุคคล ประเภทผลิต บริการ ค้าส่ง ค้าปลีก และไม่เคยได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากกองทุนดอกเบี้ยพิเศษจากกระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ
นายกอบชัย กล่าวต่อไปอีกว่า วัตถุประสงค์ของสินเชื่อดังกล่าว เพื่อนำไปใช้เป็นเงินลงทุน ปรับปรุงกิจการ หรือลงทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียน กำหนดธุรกิจเป้าหมาย 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม ธุรกิจเกษตรแปรรูป (Agro Industry) ประเภทอาหารและไม่ใช่อาหาร 2.อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry) ธุรกิจเพื่อสุขภาพ เช่น กีฬา นันทนาการ การแพทย์ และสปา ธุรกิจภาพยนตร์ วีดีทัศน์ และทัศนศิลป์ ธุรกิจการกระจายเสียงและดนตรี ธุรกิจแฟชั่น เช่น สิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณี และเครื่องประดับ ธุรกิจการโฆษณา และธุรกิจซอฟท์แวร์ และ 3.ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการปรับปรุงกิจการ (Digital Transformation) เช่น เครื่องมือ อุปกรณ์ควบคุมด้วยระบบซอฟท์แวร์ หรือระบบอัตโนมัติ
นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า ผู้ประกอบการที่สมัครเข้าร่วมสินเชื่อ SMEโตไว นอกจากจะได้รับด้านเติมทุนแล้ว ทาง ธพว. ยังเพิ่มเติมมอบมาตรการเติมความรู้ ช่วยยกระดับให้ตรงความต้องการของผู้ประกอบการแต่ละกลุ่มธุรกิจ เช่น เชิญร่วมกิจกรรมอบรมพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมสู่การส่งออก เชื่อมโยงสถาบันการศึกษานำนวัตกรรมผนึกกับธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า พาจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าต่างชาติ เปิดตลาดอีคอมเมิร์ซ ผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง ออนไลน์ชื่อดังอย่าง Thailandpostmart.com Shopee Alibaba และ Lazada เป็นต้น นอกจากนั้น ส่งเสริมการตลาด ให้สิทธิออกบูธในงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่ธนาคาร และหน่วยงานพันธมิตรจะจัดขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ