‘ไทย-เดนมาร์ค’ รื้อแผนมิลค์แลนด์ เฟส2

16 พ.ย. 2562 | 06:17 น.

ไทย-เดนมาร์ค เร่งทบทวนแผน “ร้านมิลค์แลนด์ เฟส 2” รูปแบบแฟรนไชส์สยายปีกไทยเทศ ก่อนทุ่มกว่า 200 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตโรงงานในขอนแก่น-ประจวบคีรีขันธ์ วางเป้าสิ้นปีดันรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท

 

 นายณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมไทย-เดนมาร์ค เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนงานของอ.ส.ค.ในปีหน้าจะยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมนมในไทยที่ยังมีการแข่งขันกันรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดนมเย็นที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเทรนด์ต้องการรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่แนวโน้มการบริโภคนมเย็น (พาสเจอไรซ์,โยเกิร์ต,ดริงกิ้งโยเกิร์ต, ไอศกรีม) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ 1-2 รายการออกมารองรับตลาด หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้เปิดตัว “โยเกิร์ตพร้อมดื่มปราศจากไขมันพาสเจอไรซ์ กลิ่นเสาวรส ตราไทย-เดนมาร์ค” นอกจากปราศจากไขมัน พลังงานตํ่า และนํ้าตาลน้อยออกมารองรับตลาดดังกล่าวแล้ว

 

ขณะเดียวกันยังมีการทบทวนการขยายสาขาและแนวทางการดำเนินธุรกิจเพิ่มเติม ซึ่งในปี 2563 จะมีการขยาย “ร้านมิลค์แลนด์ เฟส 2” เพิ่มเติมคือ การเพิ่มเติมในส่วนของทีมงานดูแล ตรวจสอบ เพื่อขยายสู่ระบบแฟรนไชส์เต็มรูปแบบและเข้มแข็ง และเพื่อให้ระบบมีความสมบูรณ์และเพียบพร้อมมากยิ่งขึ้น จากปีนี้ที่เป็นปีเริ่มต้นและมีปัญหาอุปสรรคมากมาย โดยวางเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มเติมอีก 100 สาขาในสิ้นปีหน้า ซึ่งจะทำให้มีร้านมิลค์แลนด์รวมทั้งสิ้น 200 แห่งทั่วประเทศ

‘ไทย-เดนมาร์ค’ รื้อแผนมิลค์แลนด์ เฟส2

                           ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ

สำหรับรูปแบบการขยายสาขาจะเลือกโมเดลขนาดกลาง (M)มากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ จากปัจจุบันที่มีโมเดล S, M, L ระดับราคาตั้งแต่ 8 แสนบาทขึ้นไป และมีระยะเวลาคืนทุน 3-4 ปี ขึ้นอยู่กับโลเกชันและค่าใช้จ่ายด้วย โดยปัจจุบันองค์กรมีสาขาร้านมิลค์แลนด์ อยู่ที่ 50 สาขาทั่วประเทศ และจะเพิ่มเป็น 100 ร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งการขยายดังกล่าวเพื่อให้สอดรับกับแนวทางการขยายสินค้าในกลุ่มนมเย็นของทางองค์กร

 

นอกจากนี้ยังเตรียมส่งโมเดลร้านมิลค์แลนด์ ในรูปแบบแฟรนไชส์ขยายไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สปป.ลาว และ กัมพูชา ในช่วง 1-2 ปีที่จะถึงนี้ เบื้องต้นอยู่ระหว่างศึกษาตลาดและข้อกฎหมาย และความพร้อมของเครือข่ายการจัดส่งผลิตภัณฑ์นมเย็นไปยังต่างประเทศให้รวดเร็ว และเพียงพอในการขยายตลาด นอกจากนี้องค์กรยังมีสินค้าในกลุ่มนมเย็น 3-4 รายการที่พัฒนาขึ้นมาเตรียมพร้อมในการออกรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่จะเปิดตัวหรือเลือกทำตลาดตอนไหนนั้นขึ้นอยู่เทรนด์ความต้องการและแนวโน้มของตลาดในขณะนั้น บทบาทขององค์กรที่ต้องมีสินค้าใหม่เพื่อตอบสนองผู้บริโภค

 

พร้อมกันนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายสินค้าในกลุ่มนมเย็นขององค์กร โดยในปีหน้ามีแผนในการขยายกำลังการผลิตของโรงงานในส่วนของโรงงานการผลิตนมเย็นเพิ่มที่ จ.ขอนแก่น และจ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยจะเป็น รูปแบบของการขยายส่วนการผลิตจากโรงงานเดิมที่ในการผลิตนมยูเอชทีที่มีอยู่ โดยคาดการณ์ว่างบประมาณการลงทุนไม่ตํ่ากว่าแห่งละ 100 ล้านบาท โดยเริ่มจากโรงงานที่ จ.ขอนแก่น และจ.ประจวบคีรีขันธ์ตามดำดับ จากปัจจุบันอ.ส.ค. มี 5 โรงงาน และมีโรงงานที่สามารถผลิตนมเย็นมีเพียง 2 แห่ง คือโรงงานที่ มวกเหล็ก จ.สระบุรี และที่ จ.เชียงใหม่  

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับภาพรวมตลาดปีนี้ มูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านบาท การเติบโตที่ 3-4% โดยมีตลาดนมยูเอชทีเป็นสัดส่วนใหญ่สุดที่ 60% และอื่นๆ อาทิ สเตอริไลซ์, นมเปรี้ยวยูเอชที, นมเปรี้ยวพร้อมดื่มอีก 40% ขณะที่อ.ส.ค.วางเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ย 6-8% ต่อปี โดยในสิ้นปีนี้คาดการณ์ว่าจะปิดรายได้ราว 1 หมื่นล้านบาท จากปีผ่านมาที่มีรายได้กว่า 9,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนยอดขายที่มาจากต่างประเทศ 10% และตลาดในประเทศ 90% แบ่งเป็น 10% จากช่องทางนมโรงเรียน และอีก 80% เป็นช่องทางคอมเมอร์เชียล (การพาณิชย์) ทั้งโมเดิร์นเทรด และเทรดิชันนัลเทรด ขณะที่ในสิ้นปีหน้าจากการเดินหน้าขยายตลาดอย่างต่อเนื่องคาดการณ์ว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 6% หรือคิดเป็นรายได้กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

หน้า 32 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3522 ระหว่างวันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน 2562