โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ลามกระทบชิ่งไทยแล้ว บิ๊กสมาคมสุกรฯ ร่อนหนังสือร้อนร้อง “จุรินทร์” ของบ 500 ล้าน ดันส่งออก 1 ล้านตัว ระบุในประเทศล้นวันละ 3 พันตัว คาดความต้องการบริโภคในประเทศจะซบเซาอย่างน้อย 1 ปี
แหล่งข่าวผู้ประกอบการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 15 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรื่อง ขออนุมัติงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายการขนสุกรเพื่อส่งออก ตามรายงานสถานการณ์ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever : ASF) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2561 ที่ประเทศจีน จนถึงปัจจุบันได้แพร่ระบาดล้อมรอบประเทศไทยเกือบทุกภาคตั้งแต่ทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ตะวันออกจนถึงตะวันตก
จากสถานการณ์ดังกล่าวสร้างความกังวลวิตกด้านสุขอนามัยต่อการบริโภคเนื้อสุกรของผู้บริโภคภายในประเทศ และความหวั่นวิตกของผู้เลี้ยงสุกรภายในประเทศต่อการแพร่ระบาดของโรคนี้ ที่ไทยต้องตกอยู่ในวงล้อมของประเทศที่เกิดการระบาดรอบด้าน ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาสุกรขุน ปัจจุบันราคาจำหน่ายสุดกรขุนสู่ตลาดกรุงเทพฯ ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของประเทศ ในระดับราคาที่ 56-57 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนการผลิตสุกร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ไตรมาส 4/2562 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 66-57 และ 64.66 บาทต่อกิโลกรัม (แบบซื้อลูกสุกรมาเลี้ยงขุนและแบบผลิตลูกสุกรเอง ตามลำดับ) ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่ 800-1,000 บาทต่อตัว
แหล่งข่าวผู้ประกอบการสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า การส่งออกสุกรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศกัมพูชา ที่มีความต้องการเฉลี่ย 3,000 ตัวต่อวัน ซึ่งเป้าหมายในการระบายผลผลิตส่วนเกิน และจะสามารถบริหารจตัดการด้านปริมาณสุกรขุนที่จะออกสู่ตลาดและสร้างเสถียรภาพราคาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จากปริมาณผลผลิตลูกสุกรขุนปี 2562 ประมาณ 20 ล้านตัว ปริมาณการบริโภคภายในประเทศประมาณ 5 หมื่นตัวต่อวัน การระบายสุกรขุนส่วนเกิน 2,500-3,000 ตัวต่อวัน จะสามารถบริหารจัดการปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อลดภาระการขาดทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจากสถานการณ์การระบาดของโรค ASF ในสุกร ซึ่งคาดว่าความต้องการบริโภคในประเทศจะซบเซาอย่างน้อย 1 ปี
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ จึงขอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อนุมัติงบประมาณสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสุกรขุนเพื่อการส่งออกตัวละ 500 บาท โดยมีเป้าหมายการส่งออกวันละ 2,500-3,000 ตัว รวมจำนวน 1 ล้านตัว เป็นงบประมาณที่สนับสนุน จำนวน 500 ล้านบาท อย่างไรก็ดีการผลักดันงบประมาณในครั้งนี้เพื่อพยุงราคาสุกรขุนและลดภาระการขาดทุนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรจากสภาวะดังกล่าวข้างต้น
เอกสารแนบ