คนไทยหนี้พุ่ง GEN Y ยังใช้จ่ายเกินตัว

28 พ.ย. 2562 | 08:33 น.

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เผยหนี้ครัวเรือนไทยขยายตัว 7.4%แตะ 3.4แสนบาทต่อครัวเรือน เหตุของแพง ซื้อบ้าน-รถ จับตา GEN Y รูดปรื้ดใช้จ่ายเกินตัว

ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2562 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,201 ตัวอย่างทั่วประเทศระหว่างวันที่ 11-23 พ.ย. 2562  พบว่า 88.1% เป็นหนี้ ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายทั่วไป ซื้อยานพาหนะ ซื้อบ้าน จ่ายบัตรเครดิต เพื่อประกอบอาชีพและเป็นหนี้เก่า ทำให้สภาพหนี้ครัวเรือนปีนี้มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้น 7.4%  รวม  340,000 บาทต่อครัวเรือน โดยเป็นปริมาณหนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย  59.2%  เป็นหนี้ในระบบ และ 40.8%  เป็นหนี้นอกระบบ โดยแบ่งเป็นการผ่อนชำระต่อเดือนเป็นหนี้ในระบบ 16,000 บาท  นอกระบบผ่อนชำระ 5,222 บาท ต่อเดือน

คนไทยหนี้พุ่ง GEN Y ยังใช้จ่ายเกินตัว

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าจำนวนหนี้ต่อครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงทุกปี และสูงเป็นประวัติการณ์นั้น มีความน่ากังวล เพราะทุกสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ชะลอตัวจากเศรษฐกิจโลก  สงครามการค้า และราคาสินค้าที่แพงขึ้น แม้ว่าประชาชนจะต้องการประหยัดแต่ราคาสินค้าที่แพงขึ้นก็ยากที่จะประหยัดหรือลดค่าใช้จ่าย  และคาดว่าการเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัว 2.5-2.6%  ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ส่งผลกับรายได้ของประชาชนจำเป็นที่จะต้องมีการก่อหนี้ เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยรัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อให้เศรษฐกิจประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงกลางไตรมาส 1 ปี 2563 หากยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น

“ การที่ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้นทุกปีแต่ไม่ถึง 80% ต่อจีดีพีก็ไม่น่าเป็นห่วงและมองการที่ประชาชนมีหนี้มากขึ้นเกิดจากหลายปัจจัย เช่น เป็นหนี้เพื่อซื้อรถเพื่อเอาไปใช้ในการประกอบอาชีพ ใช้ไปทำงาน หรือการกู้เงินเพื่อซื้อเครื่องจักรในการประกอบธุรกิจ หรือการซื้อบ้านที่อยู่อาศัยก็ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งต้องดูเป็นแต่ละกรณีแต่ยอมรับว่าคนบางกลุ่มก็เป็นหนี้เพราะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หรือ เจเนเรชั่นวาย (GEN Y) ที่ ระบุว่าสาเหตุของการเป็นหนี้นั้น 17.6% เกิดจากรายได้ลดลง  มีการ ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก 15.1% และคนรุ่น 15.0% ก็เห็นว่าค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้นทำให้ตนเองเป็นหนี้เพิ่มขึ้น สถานการณ์หนี้นอกระบบก็ไม่น่าเป็นห่วง เพราะยังไม่ได้มากนักและเป็นทางออกของกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงสถาบันการเงินได้ไม่มีหลักประกัน หรือหลักประกันไม่พอ ประวัติการเงินไม่ดี เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐก็ควรดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนให้ปัประชาชนคือ การดูแลค่าครองชีพ และควบคุมระบบค่าครองชิพให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ฟื้นฟูแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ผู้ประกอบการแลพนักลงทุน จัดหาแหล่งทุนในระบบดอกเบี้ยต่ำ ลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งทุนสำหรับประชาชน ที่มีความต้องการกู้ยืม แก้ไขหนี้นอกระบบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ แก้ไขการว่างงาน พัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้แก้ไขปัญหาความยากจน และดูแลสวัสดิการให้กับประชาชน เช่น ค่ารักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น